ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน เกิดจากอะไร? แก้ไขอย่างไรดี? – วิธีแก้ไขที่ต้องรู้

ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน

การฉีดฟิลเลอร์เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องบนใบหน้า เป็นหัตถการที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องพักฟื้น สามารถใช้ฉีดเพื่อเติมเต็มในส่วนต่างๆได้หลายจุด ทั้งใต้ตา ร่องแก้ม  หน้าผาก คาง ขมับ ทั้งสามารถช่วยปรับรูปหน้าให้สวยขึ้นและเติมเต็มร่องลึกบนใบหน้า ให้ผิวกลับมาเต่งตึงและดูอ่อนเยาว์มากขึ้น แต่ในการฉีดฟิลเลอร์ ก็มักจะเกิดปัญหาให้เห็นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นฉีดแล้วฟิลเลอร์ไหล รวมถึงฉีดแล้วผิวหนังเป็นก้อนเป็นลำ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นจากปัจจัยใดได้บ้าง และจะวิธีจัดการหรือแก้ไขอย่างไร เพื่อให้การฉีดฟิลเลอร์มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจมากยิ่งขึ้น

อาการของการ ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน

อาการของการฉีดฟิลเลอร์แล้วจับตัวกันเป็นก้อนเป็นลำที่ใต้ผิวหนัง มีอยู่ 2 ลักษณะอาการ คือมีลักษณะเป็นก้อนที่ไม่อักเสบและเป็นก้อนที่มีการอักเสบร่วมด้วย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • อาการเป็นก้อนที่ไม่อักเสบ
    ลักษณะอาการของฟิลเลอร์ที่จับตัวกันเป็นก้อน แต่ไม่มีการอักเสบ มักเป็นลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแค่ผิวดูไม่เรียบและไม่สวย ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ซึ่งมีลักษณะอาการที่แสดงออก ดังต่อไปนี้
    • มักจะมีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยวๆในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์
    • มีขอบเขตของก้อนที่ชัดเจน
    • มีสีเดียวกับผิวปกติ
    • ไม่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น เจ็บ แดง  ร้อน หรือมีหนอง
    • ก้อนฟิลเลอร์ไม่มีการขยายขนาดเพิ่มมากขึ้น
    • อาการต่างๆจะเกิดขึ้นหลังจากที่ฉีดฟิลเลอร์ไปแล้ว 4 สัปดาห์
    • ผิวไม่เรียบเนียน จับตัวเป็นก้อน มองเห็นทั้งในขณะที่มีการแสดงสีหน้าและที่ไม่มีการแสดงสีหน้า

อาการลักษณะนี้มักมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ผิดวิธี ใช้ปริมาณฟิลเลอร์มากเกินไป หรือฉีดฟิลเลอร์ในชั้นผิวที่ตื้นเกินไป ถ้าจะพูดโดยรวมคือเกิดจากปัญหาด้านเทคนิคการฉีดของแพทย์นั่นเอง กล่าวคือ แพทย์ไม่มีความชำนาญและไม่มีประสบการณ์ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งโดยปกติแล้ว แพทย์ที่ทำการฉีดฟิลเลอร์จะต้องมีความรู้ไม่เพียงแค่เรื่องของฟิลเลอร์เท่านั้น แต่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสรีระ โครงสร้าง และเนื้อเยื่อบนผิวหน้าด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของชั้นผิว ไขมัน ระบบกล้ามเนื้อ และรูปกระดูก  เพื่อที่จะสามารถประเมินปัญหาผิวที่เกิดขึ้น รวมถึงการเลือกใช้รุ่น ยี่ห้อของฟิลเลอร์ได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังจะช่วยกำหนดปริมาณที่เหมาะสมของฟิลเลอร์ที่จะใช้ฉีดด้วย แต่ถ้าหากเลือกฉีดฟิลเลอร์กับหมอเถื่อนที่ไม่มีความรู้ ไม่เชี่ยวชาญ หรือฉีดกับหมอกระเป๋า นอกจากจะเสี่ยงต่ออันตรายตามมาแล้ว การฉีดฟิลเลอร์ในปริมาณที่มากจนเกินความพอดี  หรือฉีดฟิลเลอร์ผิดชั้นผิว ก็สามารถทำให้ฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน
  • เกิดจากการเคลื่อนตัวของฟิลเลอร์ไปยังตำแหน่งอื่นที่ไม่ต้องการ
    ในกรณีที่แพทย์ฉีดฟิลเลอร์ผิดชั้นผิว แถมยังฉีดในบริเวณของใบหน้าที่มีการเคลื่อนไหวหรือมีการขยับตัวของใบหน้าอยู่บ่อยๆ ก็สามารถทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนย้ายไปยังผิวในตำแหน่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องการ ปัญหาเช่นนี้สามารถพบได้บ่อยในบริเวณร่องปาก ร่องแก้ม และขมับ
  • เกิดจากการใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือฟิลเลอร์ปลอม
    การเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือฟิลเลอร์ปลอม เพียงเพราะเห็นแก่ราคาที่ถูกกว่า สามารถส่งผลข้างเคียงที่เสียหายต่อสภาพผิวได้  คือเมื่อฉีดแล้วจะเกิดการจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง ไม่สามารถสลายไปได้เองตามธรรมชาติ  ทั้งยังสามารถไหลไปยังผิวในบริเวณอื่นได้ด้วย

  • อาการเป็นก้อนที่มีการอักเสบร่วมด้วย
    ในลักษณะการจับตัวเป็นก้อนของฟิลเลอร์ที่มีการอักเสบร่วมด้วยนั้น ถือเป็นสัญญาณที่มักบ่งบอกถึงอันตรายที่จะตามมา จะต้องเข้าพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามและเป็นแผลมากขึ้น โดยมีอาการที่แสดงออก ดังต่อไปนี้
    • มีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยวหรือหลายก้อนรวมกัน
    • มีอาการที่แสดงออกถึงการติดเชื้อ  เช่น เจ็บ แดง ร้อน และมีหนอง มีฝีร่วมด้วย
    • มีอาการบวมขึ้นเรื่อยๆ มีขนาดที่ขยายใหญ่ขึ้น

อาการเช่นนี้ สามารถพบได้หลังจากที่ฉีดฟิลเลอร์ไปแล้ว 48 ชั่วโมงแรก หรือหลังจากที่ฉีดไปเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีเลยก็ได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆดังต่อไปนี้

  • เกิดจากการติดเชื้อ
    การติดเชื้อมีสาเหตุมาจากเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่อุปกรณ์การฉีดหรือเป็นการฉีดที่ไม่ปราศจากเชื้อ ไม่สะอาด รวมถึงการเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือฟิลเลอร์ปลอม ส่งผลให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้น ซึ่งมักจะมีก้อนบวมแดง เมื่อถูกสัมผัสหรือกดแล้วจะรู้สึกเจ็บ ในบางรายอาจมีหนองร่วมด้วย
  • เกิดจากการแพ้
    ถึงแม้ว่าฟิลเลอร์จะเป็นสารประเภทไฮยาลูรอนิก ที่มีความคล้ายกับสารที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติของคนเราก็ตาม แต่ก็ยังนับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับร่างกายอยู่ดี ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้าน โดยจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาได้ หรือที่เรียกว่าอาการแพ้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน ภายใน 48 ชั่วโมงหลังฉีด หรือเกิดแบบล่าช้า ทิ้งช่วงนานเป็นสัปดาห์ เดือน ปี ส่วนอาการที่พบส่วนใหญ่มักจะเป็นก้อน บวม นูนและมีสีแดง

สาเหตุของการ ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน

ถ้าจะกล่าวโดยสรุปถึงปัจจัยที่ทำให้การฉีดฟิลเลอร์ตามจุดต่างๆของร่างกายแล้ว มีอาการบวม เป็นก้อน เป็นลำนั้น มีสาเหตุหรือที่มาจากรายละเอียดต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เลือกใช้ชนิดของฟิลเลอร์ที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งที่ฉีด
    เนื่องจากผิวหน้าของคนเรามีหลายชั้น  ความหนา ความบางในแต่ละตำแหน่งของผิวก็แตกต่างกัน  นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฟิลเลอร์แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นถูกผลิตออกมามีขนาดโมเลกุลที่แตกต่างกันด้วย มีทั้งที่เป็นฟิลเลอร์เนื้อแน่น ฟิลเลอร์เนื้อนิ่ม และฟิลเลอร์เนื้อละเอียด เพื่อที่จะสามารถฉีดในแต่ละจุดได้อย่างเหมาะสม โดยไม่เกิดปัญหาข้างเคียงตามมา  โดยฟิลเลอร์ที่มีความหนาแน่นของขนาดโมเลกุลสูง จะมีความคงตัวสูง เหมาะกับการนำมาฉีดในผิวชั้นลึก ส่วนฟิลเลอร์เนื้อนิ่มหรือเนื้อละเอียด  มักจะเหมาะกับการนำมาฉีดในผิวชั้นตื้นขึ้นมา แต่ถ้าหากนำฟิลเลอร์ที่มีขนาดโมเลกุลสูงมาฉีดในผิวชั้นตื้น ก็จะทำให้ฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนบวมขึ้นมาได้
  • ฉีดฟิลเลอร์ไม่ตรงกับตำแหน่งที่มีปัญหา
    ก่อนฉีดฟิลเลอร์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการประเมินผิวหน้าและสภาพปัญหาผิวโดยแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อจะนำไปสู่การเลือกยี่ห้อ รุ่น และปริมาณที่เหมาะสมกับบริเวณนั้นๆ  เพราะถ้าหากใช้ปริมาณฟิลเลอร์ไม่เหมาะสมกับสภาพผิวหรือปัญหาที่ต้องการแก้ไข เช่นฉีดริ้วรอยเล็กๆแล้วเลือกใช้ฟิลเลอร์ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ หรือใช้ฟิลเลอร์ในปริมาณที่มากเกินไป ก็สามารถทำให้ฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนขึ้นมาได้
  • แพทย์ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการฉีดฟิลเลอร์
    แท้จริงแล้ว แพทย์จะต้องมีความรู้ไม่เพียงแต่เรื่องเกี่ยวกับฟิลเลอร์แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นหรือแต่ละชนิดที่จะนำมาฉีดเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรู้ในเรื่องของโครงสร้างสรีระวิทยาของร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะโครงสร้างของใบหน้าของคนเราร่วมด้วย เพราะการฉีดฟิลเลอร์ เป็นเหมือนงานศิลปะที่จะช่วยปรับ แก้ไขรูปหน้า รวมถึงข้อบกพร่องต่างๆบนใบหน้าของผู้เข้ารับบริการด้วย เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่การฉีดฟิลลอร์กับแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญและขาดประสบการณ์  ไม่มีเทคนิคการฉีดที่ถูกต้อง คือความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงที่ไม่เพียงทำให้รูปหน้าไม่สวยเท่านั้น แต่จะทำให้ผิวเป็นก้อนเป็นลำหลังฉีดฟิลเลอร์ได้ด้วย
  • การใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
    ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐานคือฟิเลอร์ปลอมทั้งหลาย ที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนใหญ่มักมีราคาถูก แต่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ มีส่วนผสมของสารประเภทซิลิโคน ที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ จะต้องขูดออกหรือผ่าตัดออกเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไป จะจับตัวกันเป็นก้อนแข็ง หรือเกิดการไหลย้อย ไม่ได้รูป ไม่ได้ทรง  ในกรณีที่ใช้ฟิลเลอร์แท้ หลังจากฉีดอาจมีอาการบวมเป็นก้อน แต่ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่มากนัก ให้รอดูอาการหลังจากนั้นประมาณ 3 วัน เนื่องจากอาจเป็นเพียงผลข้างเคียงจากการฉีดเท่านั้น และหลังจากนั้นจะค่อยๆหายไปเอง และประมาณ 3-4 สัปดาห์ ฟิลเลอร์จะค่อยๆเซ็ตตัว มีการผสานรวมตัวกับเนื้อเยื่อของร่างกาย มีรูปทรงที่สวยงามมากขึ้น และทำให้ปัญหาที่ต้องการแก้ไขเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น แต่ในระยะนี้ ไม่ควรกดหรือนวดคลึงบริเวณที่เป็นก้อนหรือบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ เพราะจะทำให้รูปทรงของฟิลเลอร์เสีย
  • ใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ใช่สารประกอบ Hyaluronic Acid
    เนื่องจากฟิลเลอร์มีอยู่หลายประเภท แต่ประเภทของฟิลเลอร์ที่ได้รับการรับรอง คือที่มีส่วนผสมของสารประกอบ Hyaluronic Acid เนื่องจากปลอดภัย และสลายได้เองตามธรรมชาติ  แต่ถ้าหากใช้ฟิลเลอร์ที่เป็นสารเติมเต็มประเภทซิลิโคนเหลว พาราฟิน จะอยู่ถาวร ไม่สามารถย่อยสลายเองได้ ต้องขูดหรือผ่าตัดออกเท่านั้น  และเมื่อนานวันเข้า ก็สามารถจับตัวกันเป็นก้อน หรือฟิลเลอร์อาจไหลไปยังบริเวณอื่นๆ ทำให้หน้าผิดรูป  ไม่ได้ทรง หรือเกิดการอักเสบขึ้นมาได้
  • ปริมาณของฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดแต่ละครั้ง
    ปริมาณของฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีดในแต่ละจุดของผิวหน้าก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งต้องมีความเหมาะสมกับปัญหาที่ต้องการแก้ไขและความหนาบางของผิวแต่ละจุด เพราะถ้าหากใช้ปริมาณมากเกินพอดี ก็อาจจะทำให้ฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่น การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา หากใช้ฟิลเลอร์ในปริมาณที่มากเกินไป เวลายิ้ม จะมองเห็นฟิลเลอร์เป็นก้อนได้ชัดเจน ไม่สวย และไม่เป็นธรรมชาติ
ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน

ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน มักพบในตำแหน่งใดได้บ้าง

โดยทั่วไป หลังจากฉีดฟิลเลอร์ มักเกิดปัญหาฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อน ตามตำแหน่งต่างๆบนใบหน้า ดังต่อไปนี้

  • ฟิลเลอร์เป็นก้อนบริเวณใต้ตา
    ผิวที่บริเวณใต้ตา เป็นตำแหน่งของผิวที่ค่อนข้างบาง ถ้าหากฉีดฟิลเลอร์ที่ชั้นผิวหรือฉีดตื้นจนเกินไป จะทำให้เนื้อฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนนูน เด่นชัดขึ้นมาเหนือชั้นกล้ามเนื้อได้อย่างง่ายๆ มักมีอาการบวม ย้อย หรือเป็นถุงใต้ตาร่วมด้วย
  • ฟิลเลอร์เป็นก้อนบริเวณปาก
    บริเวณปาก มักเป็นส่วนที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวหรือขยับอยู่บ่อยครั้ง ถ้าหากแพทย์ขาดประสบการณ์หรือเลือกชนิดของฟิลเลอร์ไม่เหมาะกับเนื้อเยื่อหรือผิวหนังในส่วนปาก โดยเฉพาะการใช้ฟิลเลอร์เนื้อแข็ง ก็จะได้รูปทรงของปากที่มีความอวบอิ่มเกินพอดี ดูไม่สวย  ปากใหญ่ ปากเจ่อ คล้ายปากเป็ด ไม่เป็นธรรมชาติ
  • ฟิลเลอร์เป็นก้อนบริเวณหน้าผาก
    อีกหนึ่งตำแหน่งบนใบหน้าที่ฉีดฟิลเลอร์แล้ว มักจะพบกับปัญหาฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนคือหน้าผาก โดยหน้าผากจะนูนขึ้นผิดปกติ ผิวเป็นคลื่น ไม่เรียบเนียน ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการฉีดฟิลเลอร์ในปริมาณที่มากจนเกินไป  ปกติที่แนะนำคือในปริมาณไม่เกิน 5 CC  เพราะถ้าหากว่ามากกว่านั้น จะทำให้เกิดการกดทับเนื้อเยื่อและบวมลงมาถึงบริเวณรอบดวงตาได้ ส่งผลทำให้เกิดอันตรายตามมาได้อีก ส่วนเทคนิคการฉีดที่แพทย์ผู้มีประสบการณ์แนะนำนั้น จะต้องฉีดในชั้นเยื่อหุ้มกระดูกเท่านั้น จะดูสวยและเป็นธรรมชาติ
  • ฟิลเลอร์เป็นก้อนบริเวณคาง
    การที่ฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนที่บริเวณคาง ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการที่แพทย์ฉีดฟิลเลอร์ ในระดับที่ตื้นจนเกินไป ส่งผลให้กล้ามเนื้อที่เรียกว่า mentalis  ดึงฟิลเลอร์ที่คางลงมาจนรวมตัวกันเป็นก้อน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเวลาที่พูดหรือยิ้ม คางมักจะย้อยหรือยาวลงมา มีรูปทรงแหลมๆคล้ายแม่มด หรืออาจทำให้คางผิดรูปได้ ซึ่งแท้จริงแล้ว การฉีดฟิลเลอร์คาง มักจะฉีดในชั้นใต้เยื่อหุ้มกระดูก ซึ่งจะเป็นชั้นที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อลึกลงไป จึงจะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และมีรูปทรงที่สวยงาม
  • ฟิลเลอร์เป็นก้อนบริเวณร่องแก้ม
    การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม เป็นบริเวณที่จะต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เป็นพิเศษ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีความรู้เรื่องโครงสร้างของใบหน้าอย่างแม่นยำ  เพราะถ้าหากฉีดผิดตำแหน่ง อาจจะทำให้ฟิลเลอร์เป็นก้อนเป็นลำขึ้นมาได้ ซึ่งเทคนิคในการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มที่ถูกต้อง คือจะต้องฉีดลงในชั้นกระดูกใต้กล้ามเนื้อ ไม่ใช่ฉีดไปยังตำแหน่งร่องแก้มโดยตรง แต่จะฉีดในจุดที่ต่ำกว่าร่องแก้มเล็กน้อย เป็นการช่วยป้องกันการดึงของกล้ามเนื้อที่ใช้ยิ้ม แต่ถ้าหากว่าฉีดในชั้นผิวที่ตื้น ไม่ลึกพอ ตัวฟิลเลอร์จะถูกดึงขึ้นไปกองเหนือร่องแก้ม ทำให้เห็นเป็นก้อนชัดเจน และที่หนักกว่านั้น คือจะยิ่งทำให้ร่องแก้มลึกลงมากขึ้นกว่าเดิม

ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน ลักษณะแบบไหนที่ไม่เป็นอันตราย

หลังจากฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งต่างๆบนใบหน้า ส่วนใหญ่จะมีอาการบวมเป็นก้อนเล็กน้อย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ถ้าหากสัมผัสดูจะรู้สึกนูนๆที่ผิว  และเมื่อแสดงสีหน้า อารมณ์ ที่ทำให้กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหว เช่น ยิ้ม หัวเราะ หรือพูด ก้อนฟิลเลอร์ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมาให้เห็น ซึ่งอาการเช่นนี้ไม่นับว่าผิดปกติหรืออันตราย เป็นเพียงอาการบวมหลังฉีดฟิลเลอร์เท่านั้น จะดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์

ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน แบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ 

อาการผิดปกติ หลังจากที่ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน คือเมื่อคลำดูที่ผิวในชั้นที่ตื้น จะมีความรู้สึกว่าฟิลเลอร์ได้จับตัวกันเป็นก้อนแข็ง หรือสามารถมองเห็นได้ว่าฟิลเลอร์เป็นลำอย่างชัดเจน  อาการดังกล่าวนี้จะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อที่ใบหน้ามีการขยับหรือเคลื่อนไหว ส่วนสาเหตุของการที่ฟิลเลอร์จับตัวกันเป็นก้อนเป็นลำลักษณะนี้ มักจะเกิดจากการที่แพทย์ขาดประสบการณ์ในการฉีดฟิลเลอร์  หรือฉีดฟิลเลอร์ผิดชั้นผิว รวมถึงการใช้ฟิลเลอร์ปลอมที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้

อาการข้างเคียงอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดฟิลเลอร์

นอกจากการฉีดฟิลเลอร์แล้วจับตัวเป็นก้อน เป็นลำแล้ว ยังมีอาการข้างเคียงอื่นๆตามมาได้อีก เช่น

  • อาการห้อเลือด
    อาการที่สังเกตได้ง่ายๆคือ ผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนสี เนื้อเยื่อจะมีการแข็งตัว เนื่องจากว่า มีความดันโลหิตสูงที่หลอดเลือดแดง และถ้าหากที่หลอดเลือดแดงมีการอุดตัน ก็จะเกิดภาวะขาดเลือด ส่งผลให้ผิวหนังมีสีค่อนข้างแดง คล้ำ สีผิวในบริเวณดังกล่าวจะเข้มมากขึ้น
  • อาการอักเสบ
    หลังจากฉีดฟิลเลอร์ มักมีอาการแดง บวม หรือปวด ซึ่งเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ และจะค่อยๆหายไปภายใน 7 – 14 วัน แต่ถ้าหากยังไม่หาย หรืออาการหนักขึ้น ให้รีบเข้าพบแพทย์ผู้ทำหัตถการเพื่อวินิจฉัยต่อไป
  • อาการติดเชื้อ
    ในบางกรณี อาจเกิดการติดเชื้อด้วยสาเหตุต่างๆจากการฉีดฟิลเลอร์ โดยจะมีอาการบวม ซ้ำเป็นหนอง ซึ่งแพทย์มักจะให้รับประทานยาปฏิชีวนะและยาลดบวม แต่ถ้าหากดื้อยา ก็อาจจะให้รับประทานยาปฏิชีวนะมากกว่า 1 ตัว  เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น

ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อนเป็นลำ มีวิธีการแก้ไขอย่างไร

เมื่อฉีดฟิลเลอร์เข้าไปในชั้นผิวหนังแล้ว เกิดการจับตัวกันเป็นก้อนเป็นลำ ไม่ว่าจะเนื่องมาจากสาเหตุใดก็ตาม มี 4 วิธีที่สามารถแก้ไขได้ ภายใต้การดูแลของแพทย์ ดังต่อไปนี้

  1. เติมฟิลเลอร์เข้าไปใหม่เพื่อแก้ไข
    วิธีการเติมฟิลเลอร์เข้าไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถใช้ได้กับคนไข้ในบางกรณี ดังต่อไปนี้
    • เหมาะสำหรับผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตามาแล้วเป็นก้อน
      ก่อนฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา โดยปกติแพทย์จะเป็นผู้ประเมินผิวหน้าก่อนเสมอ ถ้าหากท่านใดมีปัญหาหน้าแก้มแบนและหย่อนคล้อย จะต้องแก้ปัญหาในส่วนนี้ก่อน แต่ถ้าหากไม่ได้ฉีดฟิลเลอร์ในตำแหน่งดังกล่าวก่อนมาฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรจะเติมฟิลเลอร์เข้าไปใหม่หรือจะต้องสลายฟิลเลอร์เดิมออกก่อน
    • เหมาะสำหรับผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์หน้าผากแล้วไม่เรียบเนียน เป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ
      ในกรณีเช่นนี้ สามารถที่จะเติมฟิลเลอร์เข้าไปยังบริเวณที่เป็นรอยบุ๋มลงไปได้ เพื่อให้ผิวมีความเรียบเนียนมากขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไป
  2. ฉีดสลายฟิลเลอร์
    เมื่อฉีดฟิลเลอร์แล้วจับตัวกันเป็นก้อนเป็นลำ สามารถใช้สารไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase : HYAL)มาฉีดสลายฟิลเลอร์ที่ฉีดไปแล้วได้  ซึ่งการฉีดสลายฟิลเลอร์นี้ สามารถใช้ได้เฉพาะผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์แท้ที่มีสารประกอบไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid : HA)มาเท่านั้น หลังจากที่ฉีดสลายไปแล้ว 3-7 วัน อาการจับตัวเป็นก้อนของฟิลเลอร์ก็จะสลายลงไป ในกรณีที่ฉีดฟิลเลอร์ในปริมาณที่มากหรือเป็นฟิลเลอร์เนื้อแข็งที่สลายได้ยาก ก็สามารถฉีดสลายซ้ำได้หลายๆครั้ง โดยก่อนอื่นนั้น แพทย์จะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นถึงยี่ห้อฟิลเลอร์ที่ใช้ฉีด เป็นฟิลเลอร์แท้หรือไม่ ฉีดในปริมาณเท่าใด  ฉีดที่บริเวณหรือตำแหน่งไหน  และฉีดมานานเท่าไรแล้ว เพื่อแพทย์จะสามารถประเมินปัญหา รวมถึงช่วยคำนวณปริมาณตัวยาที่จะใช้ในการฉีดสลายฟิลเลอร์ได้อย่างถูกต้อง  และถ้าหากท่านใดที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์เพิ่มในระยะนี้ ควรเว้นระยะห่างหลังจากฉีดสลายฟิลเลอร์ไปแล้วประมาณ  1 สัปดาห์
  3. ขูดหรือเจาะฟิลเลอร์ออก
    ในกรณีของการขูดฟิลเลอร์ออก มักเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่ได้ฉีดฟิลเลอร์ที่มีส่วนผสมของ HA (Hyaluronic Acid) จึงไม่สามารถสลายไปได้เองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นฟิลเลอร์ประเภท Polyamine (Aqualift) หรือ Hydrofilic Gel โดยฟิลเลอร์จะจับตัวกันเป็นก้อนนิ่ม ไม่แข็งมากจนเกินไป และไม่มีพังผืดมาเกาะ แต่ก็ไม่สามารถขูดออกได้หมด อาจจะออกได้เพียง 60-70% เท่านั้น
  4. การผ่าตัดเพื่อนำฟิลเลอร์ออก
    วิธีการผ่าตัดเพื่อนำเอาฟิลเลอร์ออก โดยส่วนใหญ่มักใช้กับผู้ที่เคยฉีดฟิลเลอร์ประเภทซิลิโคนเหลว ที่ไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยจะทำให้เกิดก้อนขนาดใหญ่และแข็งมากในบริเวณผิวหนังที่ฉีด รวมถึงผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์มานานจนเกาะเป็นพังผืด ซึ่งการผ่าตัด ก็ไม่สามารถที่จะนำฟิลเลอร์ออกมาได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ฉีด และจะต้องระมัดระวังว่าระหว่างการผ่าตัดนั้นจะไปโดนเส้นประสาทหรือเส้นเลือดสำคัญต่างๆโดยรอบ ในกรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย แพทย์จะพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกไป

วิธีป้องกันการฉีดฟิลเลอร์เป็นก้อนเป็นลำ

กันไว้ดีกว่าแก้ ก็ยังเป็นแนวทางที่ใช้ได้กับผู้ที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์เพื่อแก้ไขปัญหาบนใบหน้าและเพื่อความสวยงาม ซึ่งมีข้อควรคิด พิจารณาก่อนตัดสินใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการฉีดฟิลเลอร์ แล้วเกิดปัญหาเป็นก้อนเป็นลำหรือมีผลข้างเคียงอันตรายอื่นๆตามมา ดังนี้

  • ให้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์ในประเด็นต่างๆอย่างละเอียด รวมถึงยี่ห้อ รุ่น ผลข้างเคียง และการดูแลตนเองทั้งก่อนและหลังฉีด เป็นต้น
  • เลือกใช้ฟิลเลอร์แท้ ที่มีมาตรฐานและได้รับการรับรองเท่านั้น เพราะจะนำมาซึ่งความปลอดภัย ไม่นำมาซึ่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
  • เลือกฉีดฟิลเลอร์ในคลินิก สถานเสริมความงาม หรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน สะอาด  มีแพทย์เฉพาะทางประจำคลินิก  สามารถตรวจสอบข้อมูลได้  มีใบรับรองจากแพทยสภา มีความน่าเชื่อถือ  ที่สามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับบริการ ไม่ฉีดฟิลเลอร์กับหมอเถื่อนหรือหมอกระเป๋า เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการที่ฟิลเลอร์จะจับตัวเป็นก้อนเป็นลำ หรือฟิลเลอร์ไหลแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งผลข้างเคียงที่อันตราย ยากที่จะแก้ไขตามมาได้

ป้องกันฟิลเลอร์จับตัวเป็นก้อนด้วยการตรวจสอบฟิลเลอร์แท้ – ฟิลเลอร์ปลอม

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ฟิลเลอร์จับตัวเป็นก้อน จะต้องเลือกใช้ฟิลเลอร์แท้ ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีวิธีสังเกตฟิลเลอร์แท้กับฟิลเลอร์ปลอม ดังต่อไปนี้

  • ลักษณะของฟิลเลอร์ปลอม มีดังต่อไปนี้
    • เป็นฟิลเลอร์ที่มีสารประกอบที่ไม่สามารถสลายได้เองตามธรรมชาติ อยู่ได้ถาวร ประเภทซิลิโคนเหลว พาราฟิน ซึ่งอาจจะเห็นผลดีในช่วงแรกที่ฉีด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฟิลเลอร์อาจจับตัวกันเป็นก้อน ฟิลเลอร์ไหลไปยังผิวหนังบริเวณใกล้เคียง หรือ เกิดเป็นพังผืด จะเป็นต้องขูดหรือผ่าตัดออกเท่านั้น
    • ฟิลเลอร์ปลอมส่วนใหญ่มักมีราคาถูก หาซื้อได้ง่ายตามอินเตอร์เน็ต ไม่ได้มาตรฐานและเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นตามมา
    • ไม่มีการเก็บรักษาที่ดี ในอุณหภูมิที่เหมาะสม
    • มักฉีดโดยหมอเถื่อนหรือหมอกระเป๋า ที่ไม่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญโดยตรง
    • ที่กล่องฟิลเลอร์มีฉลากที่ไม่ชัดเจน ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือผ่านการแกะกล่องใช้งานมาแล้ว
  • ลักษณะของฟิลเลอร์แท้ มีดังต่อไปนี้
    • เป็นฟิลเลอร์ที่มีสารประกอบประเภท Hyaluronic Acid หรือ HA ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ โดยไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
    • มีเลขทะเบียน อย. เอกสารกำกับภาษาไทย เลข lot รุ่นของฟิลเลอร์ ที่กล่องของฟิลเลอร์ตรงกันทุกจุด
    • ก่อนฉีด แพทย์จะแกะกล่องใหม่ของฟิลเลอร์ให้ผู้รับการฉีดดูต่อหน้า และผู้รับบริการยังสามารถนำกล่องไปตรวจสอบได้เองด้วย

หมดปัญหาฟิลเลอร์เป็นก้อนเป็นลำด้วย Me Filler

Me Filler เป็นฟิลเลอร์ที่เป็นสารประกอบของ Hyaluronic Acid หรือ HA ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมด้านความงามที่มีความอัศจรรย์อย่าง densimatrix technology ที่ให้โครงสร้างแบบ cross-linked hyaluronic acid 100% (non-free ha) สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่มีอันตราย ไม่มีสารตกค้าง สามารถแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทุกจุด ให้ความปลอดภัยสูงสุด ลดการจับตัวเป็นก้อนเป็นลำหลังฉีด ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ได้รับการรับรองและได้รับการยอมรับจากแพทย์ทั่วทุกมุมโลก โดยมีคุณลักษณะที่พิเศษที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทุกท่านดังต่อไปนี้

  • เป็นฟิลเลอร์ที่มีความบริสุทธิ์สูงในขั้นตอนเดียว
  • มีค่า BDDE ต่ำที่สุด ดังนั้นจึงให้ความปลอดภัยอย่างสูงสุด
  • มีความยืดหยุ่นสูง
  • เนื้อเจลมีความสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการจับตัวกันเป็นก้อน
  • มีความชุ่มชื้นอย่างสมบูรณ์ เนื่องจาก Hyaluronic Acid มีคุณสมบัติช่วยอุ้มน้ำให้กับผิว ทั้งยังช่วยลดปัจจัยการบวมได้อีกด้วย

ถ้าพูดถึงหัตถการด้านความงามที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง คงมีชื่อของฟิลเลอร์อยู่ในนั้นด้วย เนื่องจากสามารถช่วยแก้ไขข้อบกพร่องในจุดต่างๆของใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะเวลาที่รวดเร็ว ทั้งยังให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน ไม่ต้องพักฟื้น ไม่ต้องผ่าตัด และมีความปลอดภัย  หากเลือกใช้ฟิลเลอร์แท้ที่ได้รับการรับรอง เลือกฉีดกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และทำหัตถการในคลินิกที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน ก็จะช่วยลดอาการข้างเคียงหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นได้