หนึ่งในโรคหรือความผิดปกติทางผิวหนังที่เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยเป็นกันบ่อย ๆ คงหนีไม่พ้นโรคลมพิษหรือผื่นลมพิษ ซึ่งเป็นผื่นคันคล้ายกับผดผื่นจากแมลงสัตว์กัดต่อย มักจะเกิดในช่วงที่อาการเปลี่ยนแปลงบ่อยหรือเกิดร่วมกับอาการแพ้อื่น ๆ ในร่างกาย แม้ว่าผื่นลมพิษจะสามารถหายได้เองและไม่มีอันตรายอะไรมากมายที่ถึงขั้นแก่ชีวิต แต่ก็สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจอยู่ไม่น้อย เพราะมักจะเป็น ๆ หาย ๆ ที่สำคัญไม่มีสัญญาเตือนล่วงหน้าสามารถเกิดผดผื่นขึ้นได้ตลอดเวลา ถ้าอย่างนั้นเราลองมาทำความรู้จักกับเจ้าลมพิษกันให้มากขึ้นดีกว่าว่าจริง ๆ แล้วลักษณะอาการเป็นอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดลมพิษ แล้วลมพิษเกี่ยวข้องกับลมไหม และถ้าหากเป็นลมพิษขึ้นมาจะมีวิธีการดูแลรักษาอย่างไร มาหาคำตอบเหล่านี้พร้อมกันในบทความนี้เลย
ทำความรู้จักกับโรคลมพิษ
ลมพิษ (urticaria) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่บริเวณผิวหนังจะมีผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย ที่สำคัญจะมีอาการคันและจะกระจายในบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุก ๆ ส่วนของผิวหนังบนร่างกาย โดยอาการคันและตุ่มนูนแดงนี้มักจะหายได้เองไม่เกิน 24 ชั่วโมง โดยที่ผื่นหรือปื้นแดงจะยุบหายไม่ทิ้งร่องรอย ทั้งนี้อาการผื่นลมพิษจะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 20-40 ปี ซึ่งอาการผื่นลมพิษจะสัมพันธ์กับอาการของโรคภูมิแพ้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับลมตามชื่อแต่อย่างใด คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วจึงจะมีแนวโน้มเกิดผื่นลมพิษได้ง่าย จากสถิติทางการแพทย์พบว่า 15-20% ของประชากรจะต้องเคยเป็นโรคลมพิษอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
ชนิดของโรคลมพิษ
ประเภทของโรคลมพิษสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามอาการและระยะเวลาความถี่ ดังนี้
- โรคลมพิษเฉียบพลัน (acute Urticaria)
เป็นลักษณะของโรคลมพิษที่มีระยะเวลาที่เกิดอาการทั้งผื่นและคันไม่เกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากการแพ้อื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา หรือการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส มักจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่นแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หอบหืด เป็นต้น
- โรคลมพิษเรื้อรัง (chronic Urticaria)
อาการลมพิษลักษณะนี้จะเป็นต่อเนื่องระยะเวลานานกว่า 6 สัปดาห์ แบบเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไปไม่หายขาด บางรายถึงขั้นเป็นทุกสัปดาห์อย่างน้อยก็ 2 วันต่อสัปดาห์ โดยส่วนใหญ่มักไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดลมพิษได้ อาจจะเกิดจากความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติ อาการของลมพิษชนิดนี้มักจะไม่รุนแรงเฉียบพลัน แต่จะสร้างความรำคาญใจให้ไม่มากก็น้อย
กลไกการเกิดลมพิษ
ลมพิษเป็นโรคและอาการแสดงหนึ่งของภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง ดังนั้น กลไกของการเกิดลมพิษจึงสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยอาการผื่นลมพิษเกิดจากการที่ร่างกายหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) และสารเคมีอื่น ๆ ที่เป็นสารก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ ร่างกายจะหลั่งสารนี้ออกมาเมื่อเกิดอาการแพ้ ซึ่งสารฮีสตามีนจะออกฤทธิ์ต่อทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท กล้ามเนื้อ และแทบจะทุกส่วนของร่างกาย ดังนั้นถ้าหากเราสัมผัสหรือรับเอาสารก่อภูมิแพ้ (allergen) เข้ามาในร่างกายฮีสตามีนก็จะหลั่งออกมาแสดงอาการแพ้ไปทั่วทุกอวัยวะในร่างกาย ซึ่งผื่นลมพิษก็เป็นหนึ่งในนั้น
กลไกของการเกิดลมพิษเกี่ยวข้องกับเซลล์สำคัญ คือ แม็สเซลล์ (mast cell) และเม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิลส์ (basophils) ซึ่งจะถูกกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ที่รับมาจากภายนอก เช่น อาหาร ละอองเกสรดอกไม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ รวมไปถึงสารเคมีต่าง ๆ ที่อยู่ในน้ำในอากาศ เหล่านี้ไปสารก่อภูมิแพ้ที่จะไปกระตุ้นให้แม็สเซลล์และเม็ดเลือดขาวเบโซฟิลส์หลั่งฮีสตามีนออกมา ซึ่งฮีสตามีนนี้เองเป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแสดงต่าง ๆ ของการแพ้ เช่น ผดผื่น หลอดลมตีบหายใจไม่ออก เส้นเลือดฝอยบวม ความดันเลือดต่ำ คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น การเกิดผื่นลมพิษก็เป็นอาการแสดงหนึ่งที่เกิดมาจากฮีสตามีน
อาการของโรคลมพิษ
ลักษณะอาการของโรคลมพิษจะเป็นผื่นตุ่มแดงที่มีอาการคันขึ้นตามผิวหนัง โดยลักษณะของตุ่มหรือรอยโรคจะเป็นปื้นนูน บวม และแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5-10 เซนติเมตร ที่สำคัญจะเกิดขึ้นและลุกลามกระจายตัวรวดเร็วมาก บางรายอาจจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แน่นหน้าอกหายใจลำบาก ริมฝีปากบวม ตาบวม เสียงแหบ คัดจมูกน้ำมูกไหล คลื่นไส้อาเจียน แน่นท้อง ท้องผูก หรือบางรายอาจจะมีอาการหอบหืดและอาจจะรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้เลย
ลมพิษกับผดผื่นชนิดอื่นต่างกันอย่างไร
ลักษณะสำคัญของผื่นลมพิษก็คือจะเป็นปื้นนูน บวม และแดง ขึ้นลุกลามในบริเวณกว้าง ต่างจากผดผื่นชนิดอื่น ๆ ที่มักจะมีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ (spot) กระจายตัวหรือไม่ก็เป็นตุ่มนูนที่เห็นขอบเขตชัดเจนคล้ายกับการเป็นสิวหรือฝี ที่สำคัญเมื่อตุ่มแดงของลมพิษยุบหายแล้วผิวหนังจะกลับมาปกติไม่มีร่องรอยเหลืออยู่ ไม่ทิ้งรอยแผลเป็น นอกจากว่าเราจะเกาจนเกิดรอยถลอก
สาเหตุของการเกิดลมพิษ
โรคลมพิษเป็นโรคที่เกิดจากอาการแพ้ สาเหตุสำคัญของการเกิดผื่นลมพิษก็มาจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสามารถจำแนกได้ 2 สาเหตุ ได้แก่
- ปัจจัยภายนอก
เป็นปัจจัยทางกายภาพที่เกิดขึ้นภายนอกร่างกาย คนที่แพ้อาหารต่าง ๆ เช่น กุ้ง ถั่ว นม ฯลฯ เวลาที่รับประทานอาหารเหล่านี้ก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดการแพ้และเป็นลมพิษขึ้นมาได้ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างเกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ไรฝุ่น รวมไปถึงกกการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นลมพิษได้
ไม่เพียงเท่านั้นมลภาวะในน้ำและอากาศก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดผื่นลมพิษได้เช่นกัน อย่างฝุ่น PM 2.5 นอกจากจะอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจแล้วยังทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้ ซึ่งอาจจะลุกลามจนกลายเป็นผื่นลมพิษได้ในที่สุด ยังไม่รวมไปถึงสารเคมีต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ปรอท กำมะถัน แคชเมียม และโลหะหนักต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผื่นลมพิษได้เช่นกัน
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นสาเหตุของการเกิดลมพิษได้ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผ่านกระบวนการหมักบ่มด้วยยีสต์ เช่น ไวน์ เบียร์ เหล้ารัม อาจจะทำให้คนที่แพ้ยีสต์เกิดอาการแพ้จนเป็นผื่นลมพิษ หรือไม่ก็อาจจะรบกวนกระบวนการเมตาบอลิซึมของเอทานอลในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกรบกวน ซึ่งงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตุ่มผื่นลมพิษขึ้นได้
นอกจากนั้นผื่นลมพิษยังมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความเย็น ความร้อน แสงแดด การเกาหรือสัมผัสผิวแรง ๆ การแพ้เหงื่อ รวมไปถึงการระคายเคืองจากการสวมใส่เสื้อผ้า
- ปัจจัยภายใน
นอกจากปัจจัยภายนอกหรือสารก่อภูมิแพ้ที่จะไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดอาการแพ้จนลุกลามเป็นผื่นลมพิษแล้วปัจจัยภายในของร่างกายเองก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรคลมพิษอย่างเช่นโรคเกี่ยวกับฮอร์โมนบางชนิดเป็นสาเหตุของผื่นลมพิษ เช่น โรคไทรอยด์ นอกจากนั้นโรคเส้นเลือดอักเสบ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคแพ้ภูมิตัวเอง ฯลฯ ก็อาจเป็นสาเหตุของลมพิษได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นแล้วการติดเชื้อทั้งจากไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อราก็เป็นสาเหตุหนึ่งของผื่นลมพิษ
ประเภทของผื่นลมพิษ
ผื่นลมพิษสามารถจำแนกเป็นชื่อเรียกต่าง ๆ ตามลักษณะของปัจจัยและสาเหตุ แต่ทั้งนี้ลมพิษแต่ละประเภทไม่ได้มีลักษณะจำเพาะทางพยาธิสภาพหรือรอยโรคแตกต่างกัน เพราะแต่ละประเภทก็มีลักษณะเป็นผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย เกิดอาการคันเหมือนกัน แต่ในทางการแพทย์เรียกชื่อแตกต่างกันเพื่อวินิจัยผลการรักษา
- ลมพิษจากการเสียดสี (Dermographism)
เป็นผื่นลมพิษที่เกิดจากการเกาและการเสียดสีของผิวหนังทำให้เกิดผื่นนูนแดงตามรอยเกาหรือขีด มักจะเกิดจากการกดทับเสียดสี และการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูปที่คับจนเกินไป
- ลมพิษจากความร้อน (Cholinergic urticaria)
ผื่นลมพิษที่เกิดจากอุณหภูมิของร่างกายที่สูงขึ้น มักจะเกิดหลังจากออกกำลังกายหรืออยู่ในที่อากาศร้อน รวมไปถึงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด ซึ่งจะเกิดที่บริเวณลำคอและลำตัว สามารถหายได้เองในเวลา 30 – 60 นาที
- ลมพิษที่เกิดจากความเย็น (Cold urticaria)
ผื่นลมพิษชนิดนี้มักจะเกิดหลังจากที่ผิวหนังสัมผัสกับน้ำเย็นหรืออากาศเย็น โดยผื่นจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ผิวหนังคลายความเย็นผิวจะอุ่นขึ้นพร้อมกันการปรากฏของผื่นลมพิษ
- ลมพิษจากสารเคมี (Contact urticaria)
ผื่นลมพิษที่เกิดจากการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ เช่น ปรอท กำมะถัน แคชเมียม และโลหะหนัก รวมไปถึงไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ยางพารา หมามุ่ย เป็นต้น
- ลมพิษจากการกดทับ (Pressure urticaria)
เป็นผื่นลมพิษที่เกิดจากการกดทับผิวหนังมากกว่า 30 นาทีขึ้นไป มักจะเกิดบริเวณฝ่าเท้า ข้อพับขา สะโพก เพราะเป็นส่วนที่มีการกดทับอยู่เป็นเวลานานจากการนั่ง ยืน เดิน
- ลมพิษจากแสงแดด (Solar urticaria)
เป็นลมพิษที่เกิดจากการโดนแดด ซึ่งพบได้น้อยมากนอกจากคนที่ผิวไวต่อแสง ส่วนใหญ่มักจะเกิดภายในไม่กี่นาทีที่ถูกแสงแดดและพบภายใน 1 ชั่วโมงหลังหลบแดด
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นลมพิษ
- หลีกเลี่ยงหรือหยุดให้ปัจจัยภายนอกสิ่งที่คาดว่ากระตุ้นให้เกิดการแพ้ในทันที
- รับประทานยาแก้แพ้
- ไม่แกะเกาบริเวณผื่นลมพิษ
- เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวเพื่อลดอาการคันด้วยโลชั่นสูตรอ่อนโยนปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์ เช่น คาลาไมน์โลชั่น
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทปลอดโปร่ง เย็นสบาย และไม่ชื้น
สัญญาณอันตรายที่ต้องไปพบแพทย์
อาการของผื่นลมพิษสามารถหายและยุบได้เอง แต่หากว่ามีอาการดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
- ผื่นลมพิษไม่ยุบภายใน 24 ชั่วโมง
- มีอาการเจ็บแสบบริเวณตุ่มผื่นร่วมกับอากาศอ่อนแรง และมีไข้ร่วมด้วย
- มีอาการลุกลามไปยังระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หายใจติดขัด ริมฝีปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ปวดตามข้อและกระดูก เป็นต้น
การป้องกันลมพิษ
เนื่องจากว่าโรคลมพิษมีสาเหตุมาจากการแพ้ดังนั้นเราจึงดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากสิ่งที่เราแพ้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดลมพิษ นอกจากนั้นแล้วหลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีกระตุ้นผิวหนัง เช่น ไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป ไม่ปล่อยให้ผิวหนังชื้นหรือเหนอะหนะ ไม่อยู่ในที่ร้อนหรือหนาวเกินไปอย่างการอบนวดตัว อบไอน้ำ หรือขัดนวดผิว ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีหรือสารที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ระคายเคืองผิว
นอกจากนั้นแล้วเราควรดูแลผิวของเราให้แข็งแรงเพื่อลดความไวของผิว หมั่นบำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้นด้วยการใช้น้ำมันบำรุงผิว มอยส์เจอร์ไรเซอร์ หรือผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น เช่น ไฮยาลูลอนิกแอซิด อโรเวร่า เซราไมด์ คอลลาเจน เป็นต้น แต่ต้องมั่นใจว่าปลอดภัย ได้มาตรฐาน และปราศจากสารเคมี และที่สำคัญไม่ลืมที่จะทาครีมกันแดดอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอเพื่อให้ผิวแข็งแรงไม่แพ้ง่าย
มาถึงบรรทัดนี้เชื่อว่าทุกคนคงพอเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมพิษกันแล้ว หัวใจสำคัญของการป้องกันโรคลมพิษก็คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ก่อให้เกิดการแพ้ ซึ่งเราสามารถไปทดสอบด้วยวิธี skin test ทางผิวหนังได้ เพื่อวินิจฉัยว่าเราแพ้อะไรจะได้หลีกเลี่ยง ที่สำคัญต้องหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง เท่านี้เราก็จะห่างไกลจากโรคลมพิษแล้ว