“สิว” ปัญหาผิวสุดคลาสสิคที่ชวนให้กลุ้มใจ สิวไม่มีหัว นูนๆ รักษายังไง ? โดยเฉพาะ สิวไต สิวอุดตันอักเสบเม็ดใหญ่ที่มาแบบไร้หัว ฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนัง จับทีไร ก็เจ็บปวดลงไปถึงใจ เพราะรักษาได้ยาก และหากรักษาไม่ดี ดูแลไม่ถูกต้อง ก็พร้อมทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ให้ดูต่างหน้าอีกต่างหาก ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเรื่องความสวยงาม แต่ยังทำลายความมั่นใจ ทำให้หลายคนรู้สึกเครียดและเป็นกังวลกับสิวประเภทนี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเข้าสังคม พบเจอผู้คน ปกปิดอย่างไรก็ไม่เนียน สิวไตคืออะไร มีที่มาอย่างไร มีวิธีรักษาหรือไม่ และจะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างไร เราไปหาคำตอบพร้อมๆกัน
สิวไต คืออะไร?
สิวไต (Nodular Acne) จัดอยู่ในกลุ่มของสิวอักเสบ(Inflammatory Acne) ที่อยู่ใต้ผิวหนัง เป็นสิวไม่มีหัว มีลักษณะเป็นไตแข็งๆ เป็นก้อนนูนๆสีแดงคล้ายกับสิวหัวช้างแต่มีขนาดที่เล็กกว่า โดยมีอาการอักเสบอยู่ส่วนล่างของชั้นผิวหนัง เป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันในรูขุมขน ในช่วงแรกที่เป็นสิวไตอาจจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ สิวไตอาจจะมีโอกาสอักเสบบวมแดงได้ และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาไม่ถูกต้อง ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดสิวชนิดอื่นๆที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นตามมาได้ด้วย มักพบสิวไตในบริเวณใบหน้า หน้าอก หน้าผาง คาง หลัง รวมไปจนถึงส่วนอื่นๆของร่างกาย ใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนานกว่าจะหายดี และเมื่อรักษาแล้ว ก็ยังสามารถเกิดรอยแผลเป็นที่เกิดจากสิวไตได้อีกด้วย
สิวไต เกิดจากอะไร?
เนื่องจากสิวไต เป็นสิวที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสิวอักเสบ(Inflammatory Acne) ดังนั้น สาเหตุของการเกิดสิวไตก็น่าจะมีความคล้ายคลึงกันกับสิวอักเสบอื่นๆทั่วไป เพียงแต่มีอาการที่รุนแรงกว่า โดยสาเหตุหลักของการเกิดสิวไต สามารถแบ่งออกเป็นสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยภายในและสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ดังต่อไปนี้
สาเหตุจากปัจจัยภายใน
สิ่งที่เป็นสาเหตุจากปัจจัยภายใน ที่กระตุ้นให้เกิดสิวไตและสิวอักเสบอื่นๆ มีดังต่อไปนี้
- เกิดจากการหนาตัวของเซลล์ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าที่บริเวณรูขุมขน (Follicular Epidermal Hyperproliferation) เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้า เป็นบริเวณที่มีการเชื่อมต่อกับต่อมไขมัน เนื่องจากมีการรวมตัวกันของเคราติน(Keratin) ไขมัน และเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้เกิดการอุดตันขึ้นในรูขุมขน และทำให้เกิดเป็นสิวอักเสบขึ้น รวมถึงสิวไตด้วยเช่นกัน
- ฮอร์โมน อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญต่อมาคือระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen) ที่มีส่วนในการกระตุ้นต่อมไขมัน ทำให้มีการผลิตน้ำมันหรือไขผิวหนัง(Sebum) ออกมามากขึ้น และเมื่อมีการผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ก็จะกลายไปเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Cutibacterium acnes ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดสิวตามมานั่นเอง นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือภาวะต่างๆเช่น การเกิดสิวในช่วงที่มีรอบเดือน ภาวะวัยทอง ภาวะ Hyperandrogenism รวมถึงการใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด เป็นต้น
- ปริมาณของเชื้อ Cutibacterium acnes ปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes สามารถทำให้เกิดสิวอักเสบอย่างสิวไตได้ เนื่องจาก Cutibacterium acnes เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก(Gram Positive)ที่สามารถใช้เอนไซม์ Lipase ย่อยไขมัน
จนกลายเป็น Free Fatty Acid ซึ่งเป็นกรดไขมันอิสระที่แทรกตัวอยู่บริเวณส่วนล่างของผิวหนัง ซึ่งจะกลายเป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้ดี ทำให้มีจำนวนของแบคทีเรียที่เพิ่มมากขึ้น และก่อให้เกิดการอักเสบจนกลายเป็นสิวไตได้ในที่สุด - การอักเสบและการการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Inflammation and Immune Response) เมื่อรูขุมขนเกิดการอุดตันจนอักเสบขึ้นมา จะส่งผลให้รูขุมขนขยายตัวออกเรื่อยๆ จนรูขุมขนแตกออก จึงส่งผลให้สารต่างๆที่อยู่ภายในรูขุมขนประทุออกมาบริเวณผิวหนังชั้นนอก
- พันธุกรรม เกิดจากการที่สมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติของการเป็นสิวอักเสบ มีสภาพผิวมันและรูขุมขนกว้าง และจากการศึกษาพบว่า 62.9% – 78% ของคนรุ่นถัดมามักมีแนวโน้มเป็นสิวอักเสบด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในเพศชายที่มีแนวโน้มเป็นสิวระดับรุนแรง
- รูขุมขนอุดตัน เนื่องจากมีไขมัน สิ่งสกปรกต่างๆ รวมถึงเซลล์ผิวที่ตายแล้วเข้าไปอุดตันอยู่ในรูขุมขน เมื่อนานวันเข้า ทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน จนกลายเป็นสิวอุดตัน สิวอักเสบและเกิดเป็นสิวไต ไม่เพียงเท่านั้นการที่รูขุมขนอุดตัน ยังสามารถทำให้รูขุมขนกว้างขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย
- ต่อมไขมัน เมื่อผิวมีความมันเพิ่มมากขึ้น จากการที่ต่อมไขมันมีการผลิตน้ำมันออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้สิ่งสกปรกไปเกาะอยู่บนผิวได้มากขึ้น จนทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน กลายเป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวที่สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวอักเสบ สิวหัวขาว รวมถึงสิวไตขึ้นมาได้
- ภาวะความเครียด ความเครียด รวมถึงความรู้สึกหดหู่ หงุดหงิด ที่สะสมเอาไว้เป็นเวลานาน สามารถแสดงออกมาทางผิวหนังได้ หรือที่เราเรียกว่าผิวเครียดนั่นเองและในบางรายก็อาจมีอาการคันร่วมด้วย และเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายของคนเราจะผลิตฮอร์โมน เช่น คอร์ติโซล (Cortisol) และ แอนโดรเจน (Androgens) ฮอร์โมนนูโรเปปไทด์ (Neuropeptides) ฮอร์โมนเอนโดรฟีน (Endorphins) และ อินซูลิน (Insulin) และ ฮอร์โมนไซโตคินส์ (Cytokines) ออกมามากขึ้นด้วย ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันและเป็นต้นเหตุทำให้เกิดสิวขึ้นได้ ทั้งยังมีแนวโน้มทำให้เกิดสิวอุดตันและมีการอักเสบได้ง่ายมากขึ้นด้วย
สาเหตุปัจจัยภายนอก
สาเหตุที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ และสิวไต โดยมีที่มาจากปัจจัยภายนอก มีดังต่อไปนี้
- การใช้เครื่องสำอาง การแพ้ส่วนผสมหรือสารประกอบในเครื่องสำอางบางชนิด หรือการไม่ได้ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการแต่งหน้าจำพวก แปรงแต่งหน้า พัฟแต่งหน้า เป็นเวลานาน ทำให้มีการสะสมของเชื้อโรคในอุปกรณ์เหล่านั้น จนทำให้เกิดสิวอุดตัน สิวอักเสบจนเป็นไตเกิดขึ้นใต้ผิวหนัง
- ฝุ่น ควัน มลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ควันหรือมลภาวะรอบตัวเรา คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิวอุดตันขึ้นมา เนื่องจากมลภาวะเหล่านี้สามารถซึมผ่านเข้าไปในชั้นผิวหนังและสามารถทำร้ายผิวได้ อีกทั้งพวกสิ่งสกปรกทั้งหลาย รวมถึงฝุ่นละอองต่างๆยังสามารถเข้าไปอุดตันรูขุมขนบนใบหน้าได้อีกด้วย
- การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง การรับประทานอาหารที่มีความหวานจากน้ำตาลและมีไขมันสูงอย่างต่อเนื่อง นั่นคือต้นตอสำคัญในการทำร้ายผิวในระยะยาว เพราะความมันสามารถทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน ส่วนน้ำตาล เมื่อเข้าไปสู่ร่างกาย สามารถกลายสภาพเป็นกรดจนทำให้เซลล์ภายในเกิดการอักเสบ จนส่งผลให้ระบบฮอร์โมนเสียสมดุล ทำให้เกิดสิวได้ง่ายขึ้น
- ประวัติการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นต้น
- การล้างหน้าไม่สะอาด รวมถึงการล้างหน้าด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว การขัดหรือถูหน้าแรงจนเกินไป และการขัดผิวหรือสครับหน้าบ่อยจนเกินไป ก็สามารถกระตุ้นให้ผิวเกิดการระคายเคืองและเกิดสิวขึ้นมาได้
- ภาวะที่มีเหงื่อออกมาก ทำให้มีความชื้นเกิดขึ้น เกิดการอุดตันที่รูขุมขน ทำให้เกิดสิวไตได้โดยง่าย
สิวไต เกิดที่บริเวณใดได้บ้าง?
สิวไตสามารถเกิดขึ้นได้หลายจุดในร่างกาย และแต่ละตำแหน่งที่เกิดนั้น ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้
สิวไตที่แก้ม สิวไตที่แก้ม มักเกิดจากสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่มาพร้อมกับสิ่งของที่ใช้บ่อยๆในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์ แว่นตา แปรงแต่งหน้า รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆที่ทำในแต่ละวัน เช่น การใช้มือมาจับบริเวณแก้มอยู่บ่อยๆ การใช้โทรศัพท์โดยการเอามาแนบหน้า การทำทรงผมแบบที่ปิดแก้ม ปิดกราม ซึ่งทั้งมือและผมของเราอาจจะมีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกติดอยู่ เมื่อมาสัมผัสกับผิวในบริเวณแก้ม อาจจะเพิ่มโอกาสในการเกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบ รวมถึงสิวไตขึ้นมาได้
สิวไตที่จมูก จมูก นับเป็นจุดที่มันที่สุดบนใบหน้าเลยก็ว่าได้ เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า T-zone ที่ต่อมไขมันมีการหลั่งน้ำมันออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้มีไขผิวหนัง(Sebum) สะสมอยู่ในบริเวณนี้มากจนเกินไป จนกลายเป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรีย Cutibacterium acnes ทำให้แบคทีเรียชนิดนี้มีการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงทำให้เกิดสิวที่บริเวณจมูกอยู่หลายประเภททั้ง สิวหัวดำ สิวอักเสบ รวมถึงสิวไตที่มีลักษณะแข็งเพิ่มมากขึ้นด้วย
สิวไตที่คาง คางเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า T-zone ที่มีการหลั่งน้ำมันออกมาเป็นจำนวนมาก และนอกจากนั้นยังเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสได้รับสิ่งสกปรกและเสี่ยงต่อการเปิดรับเชื้อโรคต่างๆในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานหรือการสัมผัสที่คางอยู่บ่อยครั้ง เป็นต้น โอกาสในการเกิดสิวอักเสบ หรือสิวไม่มีหัว แข็ง นูนที่คางจึงมีมากกว่าที่บริเวณอื่น
สิวไตที่คอ การเกิดสิวไตที่คอ เป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากพันธุกรรม เนื่องจากมีการศึกษาแล้วพบว่า หากครอบครัวใดมีประวัติทางพันธุกรรมหรือมีสมาชิกในครอบครัวเป็นสิวอักเสบมาก่อน โอกาสที่คนรุ่นต่อมาจะเป็นสิวอักเสบก็มีมากถึง 62.9% – 78% เลยทีเดียว และเพศชายก็มีแนวโน้มที่จะเป็นสิวในระดับที่รุนแรง สิวอักเสบ สิวหัวช้างหรือสิวไตมากกว่า โดยมักจะพบในกลุ่มเพศชายที่มีผิวสีขาวมากกว่าผิวสีเข้ม รวมถึงผู้มียีนจีโนไทป์(Genotype) แบบ XYYก็จะมีโอกาสเกิดสิวในระดับที่รุนแรงมากขึ้น
สิวไตที่หน้าอก สิวไตที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าอก มักเกิดจากการสะสมของน้ำมันและเหงื่อ รวมไปถึงการสะสมของสิ่งสกปรก เซลล์ผิวที่ตายแล้วบริเวณหน้าอกเกิดการอุดตัน และการระคายเคืองที่มาจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แล้วทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขน เนื่องจากมีการสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดสิวและสิวไตที่หน้าอก
สิวไตที่หลัง การเกิดสิวไตที่บริเวณหลัง ส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของสิ่งสกปรกและเหงื่อไคล รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดและบำรุงเส้นผม ที่สามารถก่อเกิดการระคายเคืองที่บริเวณหลัง โดยสารประกอบเหล่านี้ ทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน และพัฒนากลายเป็นสิวไตก้อนแข็งๆที่หลังได้
สิวไตที่หน้าผาก นอกจากหน้าผากจะเป็นจุด T – Zone ที่มีการหลั่งออกของน้ำมันเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นจุดที่ได้รับสิ่งสกปรกจากเส้นผมของเราได้ด้วย สามารถทำให้เกิดการอุดตัน ที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงจนกลายเป็นสิวหัวช้างหรือสิวไตได้โดยง่าย
สิวไตที่ปาก สิวไตมักจะเกิดที่บริเวณรอบๆ ปากใกล้กับคาง และใต้จมูก เพราะเป็นส่วนที่มีความมัน และหลายครั้ง เกิดจากการรับประทานอาหาร แล้วมีเศษอาหารที่มองไม่เห็นหรือน้ำมันติดอยู่ได้ง่าย ทำให้เกิดสิวขึ้นได้
สิวไตที่หู สิวไตสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายในหูและบริเวณนอกหู เนื่องจากหูมักเป็นจุดที่เราละเลย ไม่ได้ทำความสะอาดมากนัก จึงทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกต่างๆรวมถึงเหงื่อไคลได้โดยง่าย ทำให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวไตเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง
สิวไตที่แขน การเกิดสิวไตที่แขนถึงแม้จะมีโอกาสในการเกิดน้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ โดยมีสาเหตุมาจากความสกปรกและการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตัน
สิวไตที่ก้น สิวไตที่ก้น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่รูขุมขนที่บริเวณก้นเกิดการอุดตัน มีการสะสมของสิ่งสกปรกและเหงื่อ ทำให้เกิดเป็นสิวขึ้นมา
สิวไม่มีหัว นูนๆ รักษายังไง ?
สิวไต สามารถรักษาได้หลากหลายวิธี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรทำความเข้าใจในการรักษาอย่างถูกต้อง ร่วมกับการปรึกษาแพทย์ผิวหนังที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อที่จะสามารถรักษาได้อย่างตรงจุด เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน และไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นหลังการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาสิวไตในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
การฉีดคอร์ติโซน(Cortisone Injections) การฉีดคอร์ติโซน(Cortisone Injections) เรียกง่ายๆว่าการฉีดสิว หรือ Corticosteroids เป็นการฉีดสารสเตียรอยด์เข้าไปที่สิวไตโดยตรง ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดขนาดของสิว พร้อมทั้งช่วยลดการอักเสบ หลังการฉีดมักไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ ช่วยทำให้สิวไตก้อนแข็งๆยุบตัวลงได้เร็วขึ้น ปริมาณที่แนะนำในการฉีดคือ 0.05 – 0.25 มิลลิลิตร ต่อ 1 สิวไต ถ้าฉีดในปริมาณมากจนเกินไป ถึงแม้จะทำให้สิวยุบตัว แต่ก็จะส่งผลให้ผิวในบริเวณที่ฉีดนั้นยุบตัวลงไปด้วย วิธีนี้จะเห็นผลลัพธ์หลังจากที่ฉีดสิวไปแล้วประมาณ 2 – 3 วัน
การใช้ยารักษาสิวไต สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจคือ พวกครีมรักษาสิวที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะใช้รักษาสิวไตที่เป็นก้อนแข็งๆได้ ดังนั้น เมื่อเป็นสิวไตให้เข้าพบแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัย และรับยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ซึ่งยารักษาสิวไตก็มีหลายรูปแบบ ทั้งยาสำหรับรับประทาน ยาที่มาในรูปแบบของครีม เจลหรือโฟม ซึ่งมักมีระดับความเข้มข้นของตัวยาตามที่แพทย์ระบุ โดยยาที่นิยมนำมารักษาสิวไต มีดังต่อไปนี
- ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids) ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids) เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้น Retinoic Acid Receptor (RARs) ที่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองทางชีววิทยาขึ้นมาได้ มีคุณสมบัติช่วยลดการอุดตัน ช่วยต้านการอักเสบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาที่อยู่ในกลุ่มนี้มักมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ เช่นอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวไวต่อแสง หรือเกิดอาการผิวแดงขึ้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids) นี้อย่างระมัดระวังและให้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เป็นยาทาบริเวณภายนอกที่มีการใช้อย่างแพร่หลายที่สุด มีการแพ้น้อยที่สุด โดยมีสรรพคุณช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี โดยจะมีการหลั่ง Free Oxygen Radicals ออกมา เพื่อลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียลง โดยเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) มักใช้เป็นส่วนผสมของครีม โลชั่น เจล โฟม รวมถึงน้ำยาทำความสะอาดผิว มีความเข้มข้นหลายระดับ ตั้งแต่2.5%จนถึง 10% สามารถเลือกใช้ระดับความเข้มข้นให้เหมาะสมกับสภาพผิวของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงตามมา เช่นผิวแห้งหรือมีการระคายเคืองเกิดขึ้น เป็นต้น
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) กลุ่มยายาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เช่น Erythromycin, Clindamycin, Dapsone เป็นต้น ซึ่งในบางกรณี อาจมีการใช้ Erythromycin และ Clindamycin ร่วมกับ Benzoyl Peroxide เพื่อช่วยลดโอกาสในการดื้อยา ส่วน Dapsone เป็นยาทาที่นำมาใช้เฉพาะที่ ช่วยควบคุมการอักเสบของสิวได้ดี และร่างกายก็สามารถทนต่อยาตัวนี้ได้ แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide เนื่องจากอาจจะทำปฏิกิรริยากันจนทำให้เกิดรอยสีส้มขึ้นบนผิวหนังได้
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) โดยทั่วไปมีระดับความเข้มข้นตั้งแต่ 0.5% – 2% มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังบริเวณหนังกำพร้าชั้นบนสุดลอกออกมา(Exfoliation) ทำให้ Keratinocyte บนผิวเกาะกันน้อยลง ช่วยลดการอุดตันในรูขุมขน
นอกจากนี้ ยังสามารถแต้มหัวสิวด้วยยารักษาสิวอุดตันที่มีส่วนผสมของ Benzoyl Peroxide และกรด BHA โดยเลือกยาที่เป็นเนื้อเจลเพื่อให้สามารถซึมซาบลงสู่หัวสิวที่อุดตันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถช่วยละลายหัวสิวได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย การทำเมโสหน้าใส การทำเมโส เป็นการฉีดสารประเภทวิตามินต่างๆที่มีประโยชน์เข้าสู่ผิวโดยตรง มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของผิว ช่วยลดรอยสิว รอยดำ รอยแดงที่เกิดจากสิว ทั้งยังช่วยป้องกันสิวใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
การฉายแสง การฉายแสงด้วยแสง LED ที่มีหลากสี ซึ่งแต่ละสีมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งสีที่ช่วยในการรักษาสิวจะเป็นแสงสีฟ้ากับแสงสีแดง ที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบของสิวไต พร้อมทั้งช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิว และยังช่วยปรับผิวให้เรียบเนียนขึ้นด้วย
แท้จริงแล้วสิวไต สามารถหายเองได้ แต่อาจจะต้องอาศัยเวลา และขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิว นอกจากนั้นสิวไตยังสามารถขึ้นที่จุดเดิมๆได้อยู่บ่อยๆ ทั้งยังสามารถพัฒนากลายเป็นสิวชนิดอื่นๆได้ ถ้ามีการบีบสิว ทำให้สิวระคายเคืองหรือปล่อยทิ้งเอาไว้โดยไม่มีการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น เมื่อมีสิวไต ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาตามวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งระยะเวลาในการรักษา ก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้วิธีรักษาแบบไหน ซึ่งโดยปกติแล้วจะใช้เวลารักษาอยู่ที่ประมาณ 3 – 4 สัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง จนกว่าสิวไตจะค่อยๆยุบตัวและหายไป
การดูแลผิวขณะที่เป็น สิวไต
ในขณะที่กำลังเป็นสิวไต ผิวในบริเวณนั้นๆจะมีความอ่อนแอเป็นพิเศษ เนื่องจากการอักเสบอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ดังนั้นจึงควรให้ความใส่ใจในการดูแลผิวที่เป็นสิวไตอย่างถูกต้องและระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังต่อไปนี้
หลีกเลี่ยงการแต่งหน้า เนื่องจากในเครื่องสำอาง อาจมีสารตกค้างบนผิวที่ล้างหรือทำความสะอาดออกไม่หมด ซึ่งสามารถไปเพิ่มการอุดตันที่รูขุมขนได้โดยง่าย ยิ่งไปกระตุ้นให้สิวไม่มีหัวและสิวไตมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งไปกระตุ้นการอักเสบให้มากขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้างดการแต่งหน้าได้ก็จะเป็นการป้องกันที่ดี หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้แต่งหน้าอ่อนๆ และล้างหน้าให้สะอาดทุกครั้ง
เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่เหมาะกับสภาพผิวและสภาพปัญหา ปัญหาสิวไต เป็นปัญหาที่เกิดมาจากการอุดตันของรูขุมขนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่สามารถช่วยป้องกันการเป็นสิวไต ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความรุนแรงต่อผิว เพราะจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง สิวยิ่งหายช้าลง ทั้งยังจะไปเพิ่มปริมาณสิวที่ไม่มีหัวอีกด้วย ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่มีความอ่อนโยนอย่าง purifying mousse ในชุด acnelan by mesoestetic ที่มาในรูปแบบมูสล้างหน้า โดยมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดผิวให้สะอาดหมดจด แต่ยังคงไว้ซึ่งความสมดุลของผิว ไม่ทำให้ผิวแห้งตึง เหมาะสำหรับคนที่ผิวมันหรือผิวที่มีแนวโน้มเป็นสิวง่าย เนื่องจากคุณสมบัติที่จะช่วยกำจัดความมันส่วนเกินและฝุ่นละอองต่างๆที่ตกค้างอยู่บนผิว ทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองผิว โดยมีส่วนประกอบของสารสำคัญมากมายที่มีประโยชน์ต่อสภาพผิวที่เป็นสิว ไม่ว่าจะเป็น Chlorhexidine ที่ช่วยลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสิว , Salicylic acid ช่วยขจัดความมันส่วนกิน พร้อมทั้งช่วยผลัดเซลล์ผิวให้หลุดออกอย่างอ่อนโยนโดยไม่ทำร้ายผิว , Lactic acid ช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่า ลดการอุดตันของผิว , Postbiotic เกิดจากการหมักบ่มของเชื้อจุลินทรีย์ที่มีส่วนช่วยปรับสมดุลให้แก่ผิว ทั้งยังช่วยเสริมเกราะปกป้องผิวให้ดูแข็งแรง สุขภาพดี ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง, Anti-pollution ช่วยปกป้องผิวจากสารแอนติออกซิแดนท์ ที่เกิดจากฝุ่นควันและมลภาวะทั้งหลายที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิวและริ้วรอยก่อนวัย,Menthol ช่วยให้ผิวสดชื่น ผ่อนคลาย รวมถึง Urea ที่ช่วยลดการระคายเคือง เพิ่มความเนียนนุ่มชุ่มชื้นให้แก่ผิวได้อีกด้วย
เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอุดตันของรูขุมขนและลดการเกิดสิว ไม่เพียงการทำความสะอาดผิวที่ตรงจุดด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์เท่านั้น แต่ยังต้องเลือกผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสภาพผิวที่เป็นสิวด้วย อย่าง acne one ที่ถูกคิดค้นและพัฒนามาเพื่อท่านที่มีผิวมันหรือมีแนวโน้มเป็นสิวง่ายจาก mesoestetic โดยมีคุณสมบัติช่วยขจัดไขมันส่วนเกิน พร้อมทั้งช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพ ช่วยลดการอุดตันในบริเวณรูขุมขน ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสิว โดยมีส่วนผสมที่สำคัญ คือ m.acne complex ซึ่งเป็นสารที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าที่เสื่อมสภาพ พร้อมเผยผิวใหม่ที่ดูกระจ่างใสมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังสามารถช่วยลดเลือนจุดด่างดำ ช่วยขจัดไขมันส่วนเกินออกจากผิวได้ด้วย , Bexaretinyl complex เป็นอนุพันธ์ของเรตินอล มีประสิทธิภาพช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ลดการอุดตันหรือการสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หน้าหมองคล้ำ ไม่สดใส รวมถึง Serenoa serrulata Fruit Extract ที่มีสรรพคุณช่วยขจัดความมันส่วนเกินบนใบหน้า
ประคบร้อนและประคบเย็น ในการประคับประคองอาการเบื้องต้นเมื่อเป็นสิวไต ที่มีความแข็งของเม็ดสิวและมีอาการบวม ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเบาๆ เป็นเวลา 3 นาที จากนั้นให้ประคบในบริเวณที่เป็นสิวไตวันละ 3 ครั้ง เมื่อสิวไตมีการอักเสบลดลง ให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นครั้งละ 5 นาที ประคบเย็นที่สิวไตอีกครั้ง ทำวันละ 2 ครั้ง สิวจะค่อยๆยุบตัวลง
เลือกใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม เนื่องจากน้ำมัน เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นทำให้เกิดสิวได้โดยง่าย ดังนั้นในการเลือกใช้ครีมบำรุงที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ควรเลือกที่มีน้ำเป็นเบส แทนเบสที่เป็นน้ำมัน อย่าง hydra-vital factor k ครีมบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นเป็นพิเศษ ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนโครงสร้างเกราะปกป้องผิวจากสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวให้คงอยู่ยาวนานขึ้น ทำให้ผิวรู้สึกเนียนนุ่มและดูมีสุขภาพดีมากขึ้นด้วย โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ Ultra-moisturising complex มีคุณสมบัติช่วยให้ความชุ่มชื้น ประกอบด้วย กรดอะมิโน ยูเรีย อัลลันโทอิน และกรดแลคติค ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นได้ยาวนานขึ้น รวมถึง Vitamin E ที่มีสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยปกป้องผิวจากปัจจัยภายนอกที่มีสาเหตุมาจากอนุมูลอิสระ
ป้องกันไม่ให้เกิดสิวไตอย่างไรดี?
เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสิวไต ควรมีการดูแลและเอาใจใส่ผิวตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของใบหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิวไตและสิวอื่นๆตามมา ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ล้างหน้าให้สะอาด การล้างหน้าให้สะอาดเป็นด่านแรกที่จะต้องทำ เนื่องจากหน้าของคนเรามีการสัมผัสกับฝุ่นควัน มลพิษ มลภาวะและสิ่งสกปรกอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ควรล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิววันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เพื่อเป็นการปกป้องผิวจากเชื้อแบคทีเรียต่างๆ และนอกจากนั้น ก่อนล้างหน้าควรมีการเช็ดเครื่องสำอางออกก่อนด้วยคลีนซิ่ง เพื่อการทำความสะอาดที่ล้ำลึกและสะอาดหมดจดโดยไม่ทิ้งสิ่งตกค้างใดๆต่อไป
เลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่อุดตันรูขุมขน ก่อนใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิว ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจถึงสภาพปัญหาผิวของตนก่อน เพื่อจะได้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพผิว นอกจากนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ควรมีการตรวจสอบที่ฉลากของสินค้าให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆเป็นสูตรที่ออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันการอุดตัน (Non Comedogenic) และก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆควรทำความสะอาดมือก่อนใช้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปยังตัวของเนื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ให้ทาครีม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว การทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นประเภทมอยส์เจอร์ไรเซอร์(Moisturizer) หลังล้างหน้า ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตร Non Comedogenic ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดสิว
ทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน การทาครีมกันแดด เป็นการช่วยปกป้องผิวจากรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตและพลังงานความร้อนอื่นๆ ที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดสิวได้ง่าย ควรเลือกชนิดที่ไม่มีการอุดตัน มีค่าการปกป้องผิวที่สูง และเหมาะกับสภาพผิวของแต่ละท่านด้วย
ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวที่ใบหน้าระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นการเอามือเท้าคาง การจับหน้า รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัย ที่จะต้องมีจังหวะที่ถอดออกบ้างเพื่อให้ผิวได้พักและลดความอับชื้นบริเวณคาง
หาวิธีผ่อนคลายและจัดการกับความเครียดอย่างถูกต้อง เช่นการทำงานอดิเรกที่สนใจ หรือการนั่งสมาธิ เป็นต้น
งดการบีบสิวหรือกดสิวด้วยตนเอง เนื่องจากที่มือของคนเรามักจะมีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกเกาะติดอยู่ หรืออาจจะมีการกดสิวที่ผิดวิธี ดังนั้นไม่ควรกดสิวเอง เพราะอาจจะส่งผลให้อาการสิวแย่ลงและทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ได้
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวเป็นไต
นอกจากประเด็นต่างๆที่ได้กล่าวไปแล้วเกี่ยวกับสิวไต ยังมีอีกหลายคำถามที่เราพบได้อยู่บ่อยครั้ง ดังต่อไปนี้
สามารถเจาะสิวไตได้หรือไม่? เมื่อมีสิวไตเกิดขึ้น ไม่ควรบีบ แกะ เจาะ หรือทำสิ่งใดๆด้วยตัวเอง เพราะอาจจะทำได้ไม่ถูกวิธี ซึ่งอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการอักเสบได้มากขึ้น และยังสามารถทำให้เกิดรอยแผลเป็นได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อเป็นสิวไต ควรรีบขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อผลลัพธ์ที่ดีและไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ให้หนักใจด้วย
เป็นสิวไตแล้วรู้สึกเจ็บ ผิดปกติหรือไม่? สิวไตมักมี 2 ระยะ คือในระยะแรกอาจจะยังไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสหรือกดที่สิวไต แต่ในระยะต่อมา อาจเป็นไปได้ที่จะมีอาการเจ็บเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีอาการเจ็บจากสิวที่เป็นไต เนื่องจากสิวลักษณะนี้ แม้จะมีลักษณะที่แข็ง แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มของสิวอักเสบ ที่มักมีอาการเจ็บ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิวด้วยเช่นกัน
ปล่อยให้สิวไตหายเองได้หรือไม่? สิวไตเป็นสิวไม่มีหัว ที่มีการอักเสบอยู่ใต้ผิวหนัง ในบางกรณีสามารถหายไปได้เอง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิว แต่ก็สามารถเกิดขึ้นซ้ำในที่เดิมได้ เป็นสิวที่สามารถคงอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ หากปล่อยทิ้งเอาไว้อาจเสี่ยงทำให้เกิดรอยแผลเป็นขึ้นได้ และรอยแผลเป็นดังกล่าว จะต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนานหรืออาจกลายเป็นรอยแผลเป็นแบบถาวรในบางราย
สิวไตใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะหาย? สิวไตแบบแข็งๆอาจใช้เวลาในการรักษายาวนานกว่าสิวในรูปแบบอื่น ซึ่งระยะเวลาในการรักษาของแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง และการตอบสนองต่อวิธีการรักษาด้วย และบางครั้งการรักษาอาจจะไม่ได้สิ้นสุดลงที่สิวไตยุบ ก้อนแข็งๆนิ่มลงเท่านั้น เนื่องจากสิวจำพวกสิวไต สิวหัวช้าง มักจะทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้หลังการรักษา ซึ่งการรักษารอยแผลเป็นจากสิวก็อาจต้องใช้เวลานานพอๆกับการรักษาสิวเลยก็ว่าได้
“สิวไต” เป็นลักษณะของสิวอักเสบที่ไม่มีหัว เป็นตุ่มนูน แดง มีก้อนแข็งๆอยู่ใต้ผิว และสามารถกลายเป็นสิวอักเสบที่รุนแรงได้หากมีการบีบ แกะ หรือสัมผัสอย่างรุนแรง รวมถึงเกิดการติดเชื้อ ทั้งยังสามารถทิ้งรอยแผลเป็นที่รักษายากเอาไว้ให้ดูต่างหน้าได้อีกด้วย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย เมื่อเป็นสิวไตหรือสิวอักเสบในลักษณะอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจและรับการรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้องต่อไป เพื่อผิวที่สวย สุขภาพดี ไม่มีรอยแผลเป็น พร้อมเผยผิวใหม่ที่สดใสกว่าที่เคย