ไขคำตอบ ‘ฝ้าลึก’ คืออะไร พร้อมวิธีป้องกันไม่ให้ฝ้ามาเยือน

การเกิดฝ้าขึ้นบนใบหน้าถือว่าเป็นปัญหาชวนกลุ้มใจของใครหลาย ๆ คน เรียกได้ว่ามีฝ้าขึ้นเมื่อไรเหมือนกับฝันร้ายมาเยือน เพราะถือว่าเป็นปัญหาผิวที่ยากต่อการรักษา ยิ่งฝ้าลึกด้วยแล้วยิ่งยากที่จะขจัดให้เลือนหาย วันนี้เราลองมาเจาะลึกถึงปัญหาและกลไกการเกิดฝ้าลึก พร้อมวิธีป้องกันเพื่อให้ผิวของเราแข็งแรงและชะลอการเกิดฝ้าไม่ให้รุนแรงได้อย่างทันท่วงที

ทำความรู้จักกับฝ้า

ฝ้า (Melasma) เป็นลักษณะของความผิดปกติของผิวหนังที่จะมีอาการแสดงเป็นปื้นสีอ่อนคล้ำ ๆ ไปทางโทนน้ำตาลอ่อนและค่อนไปทางสีดำเข้ม ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และระยะเวลาของการเกิดฝ้า ยิ่งฝ้าที่เป็นมาแล้วนาน ๆ ยิ่งคล้ำสีเข้มชัดเจน โดยส่วนใหญ่ฝ้ามักจะเกิดที่บริเวณโหนกแก้ม จมูก คาง นอกจากบนใบหน้าแล้วยังพบฝ้าได้ในบริเวณอื่น ๆ ได้อีก เช่น คอ ไหล่ แขน หน้าอก และหลัง ซึ่งฝ้านั้นมีหลากหลายชนิด เช่น ฝ้าลึก ฝ้าตื้น ฝ้าผสม ฝ้าเลือด ขึ้นอยู่กับตำแหน่งการเกิดของฝ้านั้น ๆ ในชั้นผิวหนัง

ชนิดและประเภทของฝ้า

ฝ้าที่เกิดบนผิวหนังนั้นสามารถจำแนกประเภทได้ ดังนี้

  1. ฝ้าตื้น (Epidermal) เป็นฝ้าที่เกิดบริเวณผิวชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้า มักจะมีขอบเข้มชัด ฝ้าประเภทนี้รักษาได้ง่าย เพราะสามารถกระตุ้นให้ผลัดเซลล์ผิวและหลุดออกไปง่าย
  2. ฝ้าลึก (Dermal) เป็นฝ้าที่เกิดในชั้นผิวหนังแท้ สีจะออกน้ำตาลอมม่วงไปทางคล้ำ เนื่องจากอยู่ในผิวชั้นลึกจึงทำให้ฝ้ามีขอบเขตไม่ชัดเจน อีกทั้งฝ้าลึกยังรักษาให้หายได้ยากกว่าฝ้าตื้น
  3. ฝ้าผสม (Mixed melasma) เป็นฝ้าที่เกิดพร้อมกันทั้งแบบฝ้าตื้นและฝ้าลึกจนไม่สามารถแยกแยะประเภทได้ชัด จะต้องใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีแสงพิเศษส่องบนผิวจึงจะสามารถจำแนกแยกแยะประเภทของฝ้าได้
  4. ฝ้าเลือด (Telangiectasia) มีลักษณะเป็นปื้นฝ้าสีแดงที่เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือด ฝ้าชนิดนี้จะเด่นขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะอากาศร้อนคล้าย ๆ กับผิวแดงไหม้อักเสบ
  5. ฝ้าถาวร (Ochronosis) เป็นฝ้าที่เกิดจากการแพ้สารเคมีโดยเฉพาะสารไฮโดรควิโนนที่มักจะผสมอยู่ในครีมหรือเครื่องสำอางที่ไม่ผ่านการรับรอง ฝ้าชนิดนี้เกิดจากผิวถูกทำลายจึงรักษายาก ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

กลไกการเกิดฝ้าลึก

กลไกการเกิดฝ้าคือการที่เม็ดสีผิวในชั้นผิวทำงานล้นเกินกว่าปกติหรือที่เรียกว่า hyperpigmentation สามารถเกิดได้ทั้งชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และชั้นหนังแท้ (dermis) โดยฝ้าลึกจะเกิดกับชั้นผิวบริเวณหนังแท้ ส่วนฝ้าที่เกิดบนชั้นหนังกำพร้าจะเรียกว่าเป็นฝ้าตื้น ซึ่งในคน ๆ หนึ่งมีโอกาสที่จะเกิดฝ้าทั้งสองชนิดผสมกันได้

ในชั้นผิวของเราจะมีเซลล์ที่ชื่อว่าเมลาโนไซต์ (melanocytes) เป็นเสมือนโรงงานที่ภายในมีเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสี (pigment) หรือที่เรียกว่าเมลานิน (melanin) ซึ่งเมลานินจะถูกบรรจุในถุงที่เรียกว่าเมลาโนโซม (melanosome) แล้วจะถูกส่งขึ้นไปยังผิวชั้นบนในบริเวณเซลล์เคราติโนไซต์ (keratinocyte) ทำให้สีผิวเกิดรอยปื้นคล้ำของฝ้าขึ้นมา เรียกกระบวนการทั้งหมดนี้ว่าเมลาโนเจนเนซิส (melanogenesis)

ทั้งนี้ กระบวนการสร้างเม็ดสีผิวหรือเมลาโนเจนเนซิสจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีปัจจัยกระตุ้น ซึ่งปัจจัยที่ว่าก็คือแสงแดดและมลภาวะ ส่งผลให้เมลาโนไซต์ผลิตเมลานินส่งไปยังเซลล์เคราติโนไซต์เพิ่มมากขึ้น ผลก็คือสีผมก็จะเข้มและฝ้าก็จะหนาขึ้นกว่าเดิม โดยเมลาโนไซต์เซลล์หนึ่งสามารถส่งเมลานินไปยังเซลล์เคราติโนไซต์ได้ถึง 36 เซลล์เลยทีเดียว

เราอาจพอสรุปกลไกการเกิดฝ้าออกมาได้ 4 ขั้นตอน

  1. ผิวถูกปัจจัยกระตุ้น เช่น แสงแดดและมลภาวะ
  2. เมลาโนไซต์ผลิตเม็ดสีเมลานินออกมา
  3. เม็ดสีเมลานินถูกบรรจุในถุงเมลาโนโซมส่งขึ้นมายังผิวชั้นบน
  4. ผิวชั้นบนเข้มและเกิดเป็นฝ้าขึ้น

ปัจจัยกระตุ้นการเกิดฝ้าลึก

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้าลึกนั้นหลัก ๆ แล้วสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ ปัจจัยภายนอกร่างกาย และปัจจัยภายในร่างกาย

  • ปัจจัยภายนอกร่างกาย

ปัจจัยภายนอกร่างกายถือเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้น ๆ ของการเกิดฝ้าลึก โดยแสงแดดจะไปกระตุ้นให้เซลล์เมลาโนไซต์แบ่งเพิ่มจำนวนตัวเองขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วเมลาโนไซต์จะไม่แบ่งตัวเอง นอกจากนั้นแสงแดดยังกระตุ้นให้เมลาโนไซต์ทำงานผิดปกติผลิตเอนไซม์ไทโรซิเนสออกมามาขึ้น อย่างลืมว่าเมลาโนไซต์เซลล์หนึ่งสามารถส่งเมลานินไปยังเซลล์เคราติโนไซต์ได้ถึง 36 เซลล์ ส่งผลให้เม็ดสีเมลานินผลิตออกมามาขึ้นกว่าปกติจึงเกิดเป็นฝ้าขึ้นมา โดยแสงแดดนั้นจะมีรังสี UVA และ UVB แบ่งตามความยาวคลื่น รังสี UVB จะมีช่วงคลื่น 290-230 nm ทำร้ายผิวหนังด้านบนชั้นหนังกำพร้าทำให้เกิดความหมองคล้ำวมไปถึงปัญหาผิวต่าง ๆ อย่างฝ้า กระ จุดด่างดำ และมะเร็งผิวหนัง ส่วนรังสี UVA มีช่วงคลื่น 320-400 nm สามารถทะลุทะลวงลงไปทำร้ายผิวในระดับที่ลึกถึงชั้นคอลลาเจนและอีลาสตินใต้ผิวได้ เป็นต้นเหตุทำให้ผิวหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยร่องลึก ผิวเหี่ยวย่น และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดฝ้าลึก รวมไปถึงเป็นปัจจัยกระตุ้นมะเร็งผิวหนังด้วย

นอกจากแสงแดดและรังสียูวีแล้วแสงอื่น ๆ ก็เป็นสาเหตุของการเกิดฝ้าได้เช่นกัน อย่างแสงขาวและแสงสีต่าง ๆ จากหลอดไฟและแสงจากหน้าจอที่มีช่วงคลื่น 400-700 nm รวมไปถึงแสงสีฟ้าที่มีช่วงคลื่น 400-490 nm ก็เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้

สารอนุมูลอิสระ (Oxidant) ซึ่งพบได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปทั้งในมลภาวะ อากาศ และอาหาร โดยสารอนุมูลอิสระโมเลกุลที่ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเนื่องจากมีอิเล็กตรอนที่ไม่ครบคู่ เพื่อให้โมเลกุลเกิดความเสถียร จึงดึงอิเล็กตรอนจากโมเลกุลอื่น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ที่สูญเสียอิเล็กตรอนไป ซึ่งสารอนุมูลอิสระจะมาทำร้ายเกราะป้องกันผิวหรือ skin Barrier ที่ค่อยทำหน้าที่ปกป้องผิวให้เสื่อมสภาพลง ทำให้ผิวไวต่อแสงแดดและรังสียูวีง่ายขึ้น ผิวบางลง โอกาสที่จะเกิดฝ้าก็จะง่ายขึ้น

นอกจากนั้นแล้วปัจจัยภายนอกอื่น ๆ อย่างการแพ้เครื่องสำอางและสกินแคร์ที่มีสารไฮโดควิโนน รวมไปถึงการใช้ยาลดความดันโลหิตและยาปฏิชีวนะบางชนิดก็เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดฝ้าขึ้นได้เช่นกัน

  • ปัจจัยภายในร่างกาย

นอกจากปัจจัยภายนอกอย่างแสงแดดแล้วปัจจัยภายในร่างกายก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้าได้เช่นเดียวกัน โดยปัจจัยหลักที่สำคัญเลยก็คือฮอร์โมนอย่างฮอร์โมนเพศหญิง เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) นี่จึงทำให้ผู้หญิงเป็นฝ้าได้ง่ายกว่าผู้ชาย นอกจากนั้นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และรับประทานยาคุมกำเนิด ยิ่งทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดฝ้าได้ง่ายขึ้นไปอีก โรคอื่น ๆ ที่มีความผิดปกติของฮอร์โมนอย่างโรคไทรอยด์ก็เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดฝ้าได้มากกว่าเดิมถึง 4 เท่า

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดฝ้าลึก

แน่นอนว่าแสงแดดและมลภาวะเป็นสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญในการเกิดฝ้า แต่สังเกตไหมว่าทำไมบ้างคนโดดแดดเหมือนกันทำไมเกิดฝ้าไม่เท่ากัน บางคนฝ้าน้อย บางคนฝ้าเยอะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดฝ้าในแต่ละคนไม่เท่ากัน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มีดังนี้

อายุ : ปัญหาฝ้ามักจะพบในคนที่เริ่มมีอายุ จะไม่พบในเด็กหรือวัยแรกรุ่นสักเท่าไหร่ โดยมักจะพบมากในช่วงกลุ่มคนอายุ 20-40 ปี

เพศ: ผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงเกิดฝ้าเพียง 10% ส่วนผู้หญิงมีโอกาสเกิดฝ้าสูงถึง 90% ซึ่งเสี่ยงเกิดฝ้ามากกว่าผู้ชายถึง 9 เท่า ทั้งนี้ก็เป็นเพราะปัจจัยในเรื่องของฮอร์โมน โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ผู้หญิงถึง 15-50% จะประสบกับปัญหาฝ้า

สีผิว: คนที่มีผิวสีเข้มจะพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดฝ้าน้อยกว่าคนผิวขาว สังเกตได้จากชาวยุโรปมักจะเกิดฝ้าได้ง่ายกว่าชาวเอเชียและแอฟริกา

กรรมพันธุ์: ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นความเสี่ยงหนึ่งของการเกิดฝ้า โดยพบว่า 60% ของคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นฝ้ามักจะมีโอกาสเป็นฝ้าด้วย

วิธีการป้องกันฝ้าลึก

  1. ทาครีมกันแดด

วิธีการป้องกันฝ้าลึกง่าย ๆ เลยก็ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดฝ้า เริ่มจากแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดช่วง 10.00 – 16.00 น. ควรสวมเสื้อคลุม หมวก และกางร่มทุกครั้งก่อนออกไม่โดดแสงแดด ที่สำคัญควรทาครีมกันแดดเป็นระจำทุกวัน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF ย่อมาจาก Sun Protection Factor หมายถึงประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVB ยิ่งมีค่าสูงประสิทธิภาพในการกันแดดยิ่งสูงตาม แนะนำให้เลือกใช้ตั้งแต่ SPF 30 – 50 ไม่เพียงเท่านั้นควรเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า PA ย่อมาจาก Protection Grade of UVA ซึ่งบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UVA ยิ่งมีเครื่องหมายบวก (+) มากเท่าใดยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูง

วิธีการใช้ครีมกันแดดควรใช้ในปริมาณ 35 มิลลิลิตร ต่อครั้ง หรือประมาณ 1 ช้อนช้า เทียบเท่ากับการบีบครีมกันแดดบนนิ้วมือ 2 นิ้ว สำหรับการทาบนใบหน้าและลำคอ โดยทาอย่างน้อย 15 – 30 นาทีก่อนออกไปโดนแสงแดด และหมั่นทาครีมกันแดดซ้ำในระหว่างวันทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ครีมกันแดดยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. บำรุงผิวให้แข็งแรง

วิธีการป้องกันฝ้าลึกอีกอย่างหนึ่งก็คือการบำรุงเสริมเกราะป้องกันผิวให้แข็งแรง ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัฑ์สกินแคร์ที่ไม่ทำร้ายผิว เช่น การเลือกใช้โฟมล้างหน้าที่ช่วยรักษา PH balance ให้กับผิว การใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของ active ingredient ที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิวอย่างคอลลาเจน ไฮยาลูลอนิกแอซิด อโรเวร่า วิตามินบี5 เป็นต้น รวมไปถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารสกัดจากชาเขียว ทีทรี วิตามินอี เป็น ที่สำคัญอย่าลืมทามอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อรักษาให้ผิวฉ่ำน้ำได้ยาวนาน เท่านี้ก็จะช่วยให้เกราะป้องกันผิวแข็งแรง โอกาสที่จะเกิดฝ้าก็จะลดน้อยลง

  1. ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจากภายใน

การดูแลรักษาสุขำภาพจากภายในก็เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันฝ้าลึก ควรพักผ่อนให้เพียงพอให้ผิวได้ฟื้นฟูตัวเองจากภายใน หลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนโดยไม่จำเป็น นอกจากนั้นควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารต้านอนุมูลอิสระอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินอี วิตามินดี และกลุ่มไขมันดีอย่างโอเมก้า 3 6 9 ซึ่งพบมาในธัญพืช ปลาทะเลน้ำลึก

ฝ้าลึกแม้ว่าจะรักษาได้ยากแต่ก็สามารถป้องกันได้ถ้าเรามีวิธีการดูแลบำรุงผิวที่ถูกต้อง หมั่นหลีกเลี่ยงปัจจัยการเกิดฝ้าทั้งภายนอกและภายใน ที่สำคัญเลยคือหมั่นทาครีมกันแดดที่มีคุณภาพ พร้อมกับเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ที่ปลอดภัยมี active ingredient ที่ช่วยฟื้นฟูผิวให้แข็งแรง เท่านี้ก็จะช่วยปกป้องผิวและชะลอการเกิดฝ้าลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใส่ความเห็น