จัดเลย! วิธีกู้หน้าพังจากผิวแพ้เครื่องสำอางให้กลับมาสวยใสได้อีกครั้ง

ผิวเห่อ หน้าหมอง ฝ้าเกรอะ ผดผื่นคัน หน้าแพ้ง่ายแบบไม่มีสาเหตุ อาการเช่นนี้ หากไม่มีที่มาที่ไป หนึ่งในข้อสันนิษฐานคือเป็นไปได้ว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากการแพ้เครื่องสำอางที่คุณกำลังใช้อยู่และอาจจะเกิดจากส่วนผสมบางตัวที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอม แอลกอฮอล์ สารแต่งกลิ่น หรือสารกันเสียกันบูด โดยเฉพาะคนที่ผิวบอบบางและไวต่อการระคายเคือง ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการสังเกตผิว เรียนรู้จักวิธีการในการสังเกตผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ทำให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพผิว และการรู้จักวิธีดูแลผิวเมื่อเกิดอาการแพ้อีกด้วย

ประเภทของเครื่องสำอางที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเครื่องสำอางที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวันกันสักนิด ซึ่งโดยทั่วไป สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังต่อไปนี้

1) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว (Skin Care Products) เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภท สบู่ ครีมหรือเจลสำหรับทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย โดยเฉพาะสบู่ที่มักมีสารระงับกลิ่นกาย ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เนื่องจากมีส่วนผสมของน้ำหอมและสารกันเสียนั่นเอง

2) ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิว (Skin Care Products) ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงสุขภาพผิว ได้แก่ พวกโลชั่นสมานผิว(Astringents)หรือโทนเนอร์ (Toner) ที่ใช้เช็ดหน้าเพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในรูขุมขนหลังจากการล้างหน้า ซึ่งในผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น แอลกอฮอล์ และกรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) ที่มักทำให้ผิวหนังมีความระคายเคือง คัน แสบ หรืออาจมีรอยไหม้ในบางราย รวมถึง มอยส์เจอร์ไรเซอร์ (Moisturizers) ที่ส่วนใหญ่มักมีสารประกอบ เช่น โพรพิลีนไกลคอล โปรตีน วิตามินบางชนิด ที่มักทำให้เกิดตุ่มแดง หรือมีอาการคัน เป็นต้น

3) ผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดด/กันแดด (Sun Protective Products) การแพ้ผลิตภัณฑ์กันแดด สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการแพ้สารกันแดดโดยตรง หรืออาจเกิดการแพ้เมื่อสารกันแดดทำปฏิกิริยากับแสงแดดหรือพลังงานความร้อน ส่วนใหญ่สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อยู่บ่อยๆ คือสารในกลุ่ม PABA (Paramino benzoic acid) (ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้แล้ว) และออกซี-เบนโซน (Oxybenzone) รวมถึงพวกสารกันเสียหรือสีที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์

4) ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลเส้นผม (Hair Care Products) ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลเส้นผม ทั้งแชมพูและครีมนวด มักมีส่วนผสมของสารก่อฟองที่สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองขึ้นได้ เช่น เช่น สารกลุ่มโซเดียมและแอมโมเนียมลอรีลซัลเฟต (Sodium and ammonium lauryl sulfate) โดยมักจะทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นแดงที่หนังศีรษะหรือผิวบริเวณหน้าผาก

5) ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย (Deodarants) ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือเกลือของอลูมิเนียม ซึ่งมักทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ขึ้นได้โดยง่าย

นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงเครื่องสำอางต่างๆที่ทำให้เกิดสีสันบนใบหน้า เช่นอายแชโดว์ บลัชออน หรือลิปสติก ที่มักมีส่วนผสมของสี น้ำหอม และสารที่ทำให้เกิดความมันวาว ทำให้เกิดอาการอักเสบ แดง และคันในบริเวณที่ใช้ได้

จะเห็นได้ว่าเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มักมีส่วนผสมของสารประกอบที่แตกต่างกันแต่ละประเภท สามารถทำให้เกิดอาการแพ้และระคายเคืองในลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังนั้นในการเลือกใช้ ควรมีการพิจารณาถึงกระบวนการและขั้นตอนการผลิตที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญให้เลือกใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพผิวของแต่ละท่านด้วย เพราะการเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์โดยขาดความรู้ ความเข้าใจ อาจนำมาซึ่งผลเสียที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอาการแพ้นั่นเอง

อาการแพ้เครื่องสำอางคืออะไร

อาการแพ้เครื่องสำอาง เป็นปฏิกิริยาของผิวที่แสดงออกมาในลักษณะต่างๆกัน ที่ให้ผลข้างเคียงในเชิงลบต่อผิวหนัง ทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคืองจนนำไปสู่อาการแพ้ เป็นโรคผิวหนัง มีการติดเชื้อ หรืออื่นๆตามมา ซึ่งอาการแพ้ดังกล่าว เกิดจากสารประกอบบางตัว สารเคมี หรือสารอันตรายที่อยู่ในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิว เช่น สารแต่งกลิ่นหอม สารกันแดด สารแต่งสีพาราฟีนิลีนไดอะมีน (ยาย้อมสีผม) วัตถุกันเสีย แอลกอฮอล์ สารปรอท สเตียรอยด์และสารอื่นๆ

ประเภทของการแพ้เครื่องสำอาง

แน่นอนว่า อาการแพ้เครื่องสำอางของแต่ละคนอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ดังต่อไปนี้

1) ประเภทที่เป็นสิว(Acne type) ในประเภทของลักษณะอาการที่เป็นสิวนี้ เป็นการแพ้ที่กระตุ้นให้เกิดสิวอุดตัน ทั้งสิวหัวปิดและสิวหัวเปิด โดยเกิดจากส่วนผสมบางอย่างที่อยู่ในผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าหรือเส้นผม ที่ทำให้เกิดสิว อาจจะทำให้เกิดผื่นหรือสิวขึ้นได้ทันทีหรืออาจจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายวันก็ได้

2) ประเภทโรซาเซีย(Rosacea Type) ส่วนผสมที่อยู่ในเครื่องสำอาง ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ สามารถกระตุ้นให้เกิดลักษณะของโรคโรซาเซีย คือมีหน้าแดง และรู้สึกร้อนวูบวาบที่ใบหน้า

3) ประเภทที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง (Stinging Type)

อาการระคายเคือง(Irritant contact dermatitis) มักแสดงออกด้วยอาการแห้งตึง แสบร้อน และคันบริเวณผิวหนัง กรณีรุนแรงผิวอาจไหม้ได้ ส่วนใหญ่มักพบในเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHA ( โดยเฉพาะ Glycolic acid) , Benzoic acid , lactic acid , sorbic acid และ vitamin C รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ไม่มีมาตรฐานการผลิต ไม่มีการรับรองคุณภาพ พวกครีมเถื่อนทั้งหลาย ในกรณีอาการแพ้สารประกอบบางชนิดที่อยู่ในเครื่องสำอาง หรือที่เรียกว่าการแพ้สารสัมผัส (Allergic contact dermatitis) มักมีผื่นแดง บวม หรือคัน ถ้าในรายที่อาการรุนแรงอาจจะมีน้ำเหลืองไหลออกมาด้วย

4) ประเภทที่มีอาการแพ้(Allergic Type) ลักษณะการแพ้ประเภทนี้ จะทำให้เกิดผื่นแดง คัน ผิวลอก เป็นผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่มักพบในกรณีที่มีการใช้พวกสเปรย์ดับกลิ่นกาย , น้ำหอม , skin care , hair care รวมถึง ยาทาเล็บ และสารกันเสีย เป็นต้น

ถ้าจะกล่าวโดยสรุป ถึงลักษณะอาการแพ้เครื่องสำอางที่พบบ่อยๆ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะดังนี้

  • ลักษณะของผื่นระคายสัมผัส เกิดจากการระคายเคือง จากเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ (AHA) BHA ยารักษาสิว ผลิตภัณฑ์สครับหรือขัดหน้า ผลิตภัณฑ์กำจัดขน ทำให้เกิดอาการแสบและคันหน้า มักเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด

  • ลักษณะของผื่นแพ้สัมผัส อาการผื่นแพ้สัมผัส มักเกิดจากส่วนประกอบของสารที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารแต่งกลิ่น รวมถึงพวกสารกันเสีย สารกันบูด หรือยาย้อมผม โดยมักจะรู้สึกคัน มีผื่นแดง หลังใช้ไปสักระยะ ส่วนใหญ่อาการดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด

นอกจากนั้นแล้ว การแพ้เครื่องสำอาง อาจทำให้เกิดสิวแบบลุกลามหรือเกิดรอยคล้ำ รอยด่าง แต่ไม่ได้พบบ่อย

รู้ได้อย่างไรว่ากำลังแพ้เครื่องสำอาง

การแพ้เครื่องสำอาง เรียกได้ว่าเป็นปฏิกิริยาของผิวที่แสดงออกมาว่ามีการแพ้สารต่างๆโดยเฉพาะสารเคมีที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ซึ่งสามารถสังเกตอาการแพ้ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวดแสบ ปวดร้อน คัน แดงที่ผิวหนัง ซึ่งอาการลักษณะนี้ มักเกิดจากการใช้เครื่องสำอางได้ประมาณ 2 วัน แต่เมื่อหยุดใช้ อาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเอง ในส่วนของอาการคัน มีผื่นแดงก็ปรากฏให้เห็นด้วยเช่นกัน มีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงกรณีรุนแรงที่เป็นตุ่มน้ำ มักพบบ่อยบริเวณรอบดวงตา ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความบอบบางมากกว่าบริเวณอื่น

  • เป็นผื่น คัน และเป็นผื่นบวมแดง อาการเหล่านี้ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้ ในกรณีเช่นนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี คือกรณีที่อาการไม่รุนแรง มักจะมีอาการบวมเฉพาะที่ เช่นบวมที่บริเวณหนังตา และในกรณีที่มีอาการรุนแรง มักจะเป็นผื่นบวมทั่วใบหน้า และสามารถส่งผลเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ กล่าวคือมักมีอาการแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออกร่วมด้วย เป็นต้น ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมง และมักจะมีอาการรุนแรงมากที่สุดในช่วง 2 วัน หลังจากที่ผิวหนังได้สัมผัสกับสารต่างๆเหล่านั้น

  • มีผดผื่นขึ้นเป็นจุดๆ ผื่นที่เกิดขึ้นเป็นจุดๆนี้ มักมีสาเหตุมาจาก ส่วนประกอบของสารจำพวกน้ำหอม สารแต่งกลิ่น สารกันบูด หรือยาย้อมผม เป็นต้น ทำให้รู้สึกคัน และมีผื่นแดงหลังจากที่ใช้ไปสักระยะ

  • เกิดรอยขาว สีผิวไม่สม่ำเสมอ อาการเช่นนี้เกิดจากการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) หรือจากการใช้เครื่องสำอางที่ทำให้หน้าขาว โดยมีส่วนผสมของสารปรอท เห็นได้จากบรรดาครีมเถื่อน ครีมออนไลน์ ที่ไม่ได้มาตรฐานการผลิต และสามารถทำให้เกิดรอยด่างขาวแบบถาวรขึ้นมาได้

  • เกิดผื่นดำ อาการผื่นดำ มักเกิดขึ้นหลังจากที่มีการใช้เครื่องสำอางบางชนิดแล้วผิวไปสัมผัสกับความร้อนหรือแสงแดด ทำให้สารที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางนั้นๆเกิดปฏิกิริยากับแสงอัลตร้าไวโอเล็ต ทำให้เกิดเป็นรอยดำบนผิว เช่นเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำหอม เป็นต้น

  • ผมและเล็บเปราะง่าย การที่ผมและเล็บมีความเปราะบางได้ง่าย อาจเกิดมาจากสารเคมีที่อยู่ในน้ำยาเปลี่ยนสีผม น้ำยาดัดผม หรือน้ำยาทาเล็บ ก็เป็นได้

  • เป็นสิว จริงๆแล้ว สิว ไม่ใช่อาการแพ้เครื่องสำอางที่แท้จริง แต่เป็นลักษณะอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการใช้เครื่องสำอางไปนานๆสักระยะ โดยเครื่องสำอางที่กระตุ้นให้เกิดสิว มักมีส่วนผสมของน้ำมัน เช่น ลาโนลิน (Lanolin) IPM และ Mineral Oil เป็นต้น

  • ผิวหนังลอกเป็นขุย การที่ผิวหนังลอกเป็นขุยๆ เกิดจากการใช้เครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของกรดผลไม้ (AHA) BHA ยารักษาสิว ผลิตภัณฑ์สครับหรือขัดหน้า ส่วนอาการแพ้มีหลายระดับ จะแพ้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับความแข็งแรงของผิวในแต่ละบุคคล

  • รู้สึกคันยิบๆที่ผิว เมื่อผิวหน้าได้สัมผัสกับสารอันตรายที่อยู่ในเครื่องสำอาง จะทำให้เกิดการกระคายเคืองของผิวขึ้น โดยจะมีปฏิกิริยาเริ่มต้นคือมีอาการคันยิบๆหลังการใช้ ทางที่ดีควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆทันที และควรมีการตรวจสอบส่วนผสมของผลิตภัณฑ์หรืออาจจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ผิวเกิดอาการคัน เช่น มือที่ไม่สะอาด อุปกรณ์ที่ใช้มีฝุ่นจับ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตามมาก็เป็นไปได้

  • มีผื่นคัน และรู้สึกแสบร้อนที่บริเวณผิวหน้า อาการที่มีผื่นคันและรู้สึกแสบร้อนขึ้นทันทีที่บริเวณผิวหน้า ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการแพ้น้ำหอมและวัตถุกันเสียในเครื่องสำอาง รวมถึงสารเคมีอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อผิว ซึ่งอาการที่ผิวหนังแสดงออก คือผิวมักจะแดง บวมเป็นตุ่มคันคล้ายเป็นลมพิษ ถ้าอาการรุนแรงขึ้นก็จะรู้สึกแสบร้อนที่ผิว การยับยั้งอาการดังกล่าวในเบื้องต้นคือให้รีบล้างเครื่องสำอางนั้นออก แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  • ผิวไวต่อแสงมากขึ้น อาการไวต่อแสงแดดของผิวมักเกิดจากการใช้เครื่องสำอาง ที่มีส่วนผสมของสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอม มะกรูด มะนาว รวมถึงครีมกันแดด ซึ่งมักจะมีอาการที่แสดงออกมาคือผิวจะหมองคล้ำและมีรอยดำเกิดขึ้นมาบนใบหน้าได้โดยง่าย

  • เป็นกระสีขาว กระสีขาว มักพบกับผู้ที่แพ้สารเคมีจำพวกปรอทที่ถูกนำไปผสมลงในเครื่องสำอาง ซึ่งทำให้ผิวขาวขึ้นแต่ไม่มีความสม่ำเสมอ ทำให้แลดูเป็นรอยกระดำกระด่าง เนื่องจากเซลล์ผิวถูกทำลาย นับเป็นอาการที่อันตราย จำเป็นต้องไปพบแพทย์โดยด่วน

  • น้ำตาไหลตลอดเวลา ในกรณีที่มีอาการน้ำตาไหลหรือมีการระคายเคืองที่บริเวณผิวรอบดวงตาอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ สันนิษฐาน

ได้ว่าเกิดอาการแพ้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางต่างๆที่ใช้รอบดวงตา เช่น อายครีม อายแชโดว์ มาสคาร่า อายไลเนอร์ หรืออายรีมูฟเวอร์ เนื่องจากผิวหนังบริเวณรอบดวงตา เป็นบริเวณที่บอบบางมาก อาจจะเกิดการระคายเคืองได้โดยง่าย หากเกิดอาการแพ้ ให้หยุดใช้ทันที พร้อมทำความสะอาดผิวรอบดวงตาให้สะอาด ไม่ให้มีสารตกค้าง แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์

ฉันแพ้อะไรกันแน่?

ในการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิวก็ดีหรือการใช้เครื่องสำอางก็ดี หากมีอาการผิวปกติบางอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผื่น คัน สิวเห่อ มีอาการแสบร้อน แต่ไม่แน่ใจว่าแพ้ผลิตภัณฑ์ตัวไหนกันแน่ ทางที่ดี แนะนำให้ลองหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ทุกตัว จากนั้นให้ลองใช้ใหม่ทีละตัวอย่างระมัดระวัง แล้วให้รอดูอาการหลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ หากไม่มีอาการใดๆก็ให้ลองทดสอบตัวอื่นๆต่อไปจนกว่าจะพบว่าผลิตภัณฑ์ตัวใดที่เป็นที่มาของอาการแพ้ ในการทดสอบนี้ ท่านสามารถทดสอบกับบริเวณใต้ท้องแขนหรือหลังใบหูซึ่งเป็นบริเวณผิวหนังที่อ่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทาที่ผิวหน้าโดยตรง

ระดับอาการแพ้เครื่องสำอาง

ความรุนแรงของระดับการแพ้เครื่องสำอาง ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาต่อสารในเครื่องสำอางแต่ละชนิดที่มีต่อผิวหน้าของแต่ละท่าน ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างกัน โดยมีระดับที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

ระดับที่ 1 ผิวหนังระคายเคืองและมีการอักเสบ เป็นลักษณะอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ผิวเซ็นซิทีฟ บอบบาง มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ กล่าวคือ หลังจากที่ได้สัมผัสกับเครื่องสำอางแล้ว มักจะมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง รู้สึกคัน ผิวแดง ผิวอาจลอกเป็นขุย หรือในบางรายอาจเป็นแผลพุพอง อาการต่างๆเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้แบบทันทีหรือหลังจากใช้เครื่องสำอางเหล่านั้นหลายวันก็เป็นได้

ระดับที่ 2 ผื่นลมพิษสัมผัส อาการผื่นลมพิษสัมผัส ผู้ป่วยมักจะมีอาการแสบร้อนเฉพาะจุด หลังจากที่ได้ใช้หรือสัมผัสเครื่องสำอางชนิดนั้นๆได้ไม่นานจะมีความรู้สึกเหมือนถูกเข็มทิ่ม อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องยาวนานเป็นชั่วโมง และหลังจากนั้นจะมีอาการผื่นลมพิษตามมา ซึ่งมีลักษณะบวม แดง และคันบริเวณผิวหนัง แต่อาการดังกล่าวมักจะหายไปได้เองภายใน 1 วัน

ระดับที่ 3 ผื่นแพ้สัมผัส ผื่นแพ้สัมผัส มักเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้ ถ้าหากในเครื่องสำอางที่ใช้อยู่ มีสารบางอย่างที่ไปกระตุ้นสารก่อภูมิแพ้ ผิวหนังก็จะตอบสนองด้วยการมีผื่น คัน บวม แดง และมีขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆนานกว่า 12 ชั่วโมง และอาการมักจะรุนแรงขึ้นในช่วงวันที่ 2 หลังจากสัมผัสสาร

ระดับที่ 4 ผื่นสัมผัสจากปฏิกิริยาต่อแสง สารเคมีที่อยู่ในเครื่องสำอาง อย่างเช่น ปรอท สามารถทำปฏิกิริยากับแสงแดดและทำให้เกิดผื่นขึ้นที่ผิวหนังได้

ระดับที่ 5 อาการแพ้อย่างรุนแรง อาการแพ้สารเคมีในเครื่องสำอางอย่างรุนแรง มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นผิวหนัง มีอาการบวม และหายใจลำบาก แม้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ควรมีความระมัดระวังในการใช้เครื่องสำอาง และให้หมั่นสังเกต

อาการของตนเองเสมอ ซึ่งในกรณีที่แพ้รุนแรงเช่นนี้ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอันตรายอาจส่งผลเสียหายต่อชีวิตได้

สารประเภทใดในเครื่องสำอางที่มักทำให้เกิดอาการแพ้

ในเครื่องสำอางแต่ละชนิด ล้วนแต่มีสารประกอบที่อยู่ในส่วนผสมที่สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • น้ำหอม (Fragronce)และสารแต่งกลิ่นหอม น้ำหอม เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด และในปัจจุบันมีสารแต่งกลิ่นหอมหรือหัวน้ำหอมกว่า 5,000 ชนิด ได้ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง จำพวก น้ำหอม แชมพู ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิว ยาระงับกลิ่นกาย และเครื่องสำอางที่ใช้แต่งหน้าทั้งหลาย และพบว่า 70-80%ของสารแต่งกลิ่นหอมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ สามารถตรวจพบได้โดยการทดสอบทางผิวหนัง ดังนั้น ควรมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้า ควรอ่านและทำความเข้าใจทุกข้อความที่ปรากฏอยู่บนฉลากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางก่อนเลือกซื้อมาใช้ทุกครั้ง โดยฉลากที่ระบุว่า Unscented หมายความว่า ผลิตภัณฑ์นั้นปราศจากส่วนผสมของน้ำหอม ส่วนฉลากที่ระบุว่า Hypo-allergenic fragrances หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมของน้ำหอม แต่มีโอกาสเกิดการแพ้ได้น้อย

  • สารกันเสีย (Preservatives) โดยส่วนใหญ่ เครื่องสำอางที่เป็นของเหลวมักมีวัตถุกันเสียเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือแชมพู ก็ตาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ผิวหนัง อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการเสื่อมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตัวนั้นๆด้วย แต่ไม่ได้ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือแสงสว่าง และสารกันเสียที่พบได้บ่อยๆในเครื่องสำอาง ได้แก่ พาราเบน (Paraben) อิริดาโซลิดินิล ยูเรีย (Imidozolidinyl usea) ควอเตอร์เนียม 15 (Quarternium – 15) ดีเอ็มดีเอ็มไฮแดนโทอิน (DMDM hydantoin) พีนอกซี เอทานอล (Phenoxy ethanol) เมทิลคลอโรไอโซไทอะโซลิโนน (Methyichloroisothiazolinone) และ ฟอร์มัลดีไอต์ (Formaldehyde) เป็นต้น ซึ่งสารดังกล่าว สามารถทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้

  • สารพาราฟีนิลีนไดอะมีนในยาย้อมสีผม เป็นสารที่ถูกนำมาใช้ในยาย้อมสีผม เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ช่วยทำให้สีผมดูเป็นธรรมชาติ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวหนังได้ เช่น ทำให้เกิดผื่นแพ้ผิวหนังบริเวณเปลือกตา ใบหู หรือบวมบริเวณใบหน้าและหนังศีรษะ เป็นต้น

  • สารอันตรายต่างๆในครีมหรือเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อีกหนึ่งตัวการที่ทำให้ผิวเกิดอาการแพ้คือสารต้องห้ามต่างๆ ที่ถูกนำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางประเภทครีมเถื่อนหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น

o พาราเบน (Paraben) เป็นสารที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ ที่มักนำมาผสมในเครื่องสำอางประเภทครีมและโลชั่น เพื่อช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งเรียกได้ว่าพาราเบนมีสรรพคุณเหมือนกับสารกันบูดหรือสารกันเสี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง เช่นผื่นแดง อาการคัน แสบ ทั้งยังสามารถส่งผลต่อการทำงานของต่อมไร้ท่อ ทำให้การผลิตฮอร์โมนผิดปกติ อาจก่อให้เกิดมะเร็งเต้านมและส่งผลร้ายถึงระบบสืบพันธุ์ได้อีกด้วย

o สารปรอท (Mercury) สารปรอท มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส ที่ทำหน้าที่สร้างเมลานิน หรือเม็ดสีผิว ทำให้ผิวดูขาวขึ้น ช่วยลดฝ้า กระ และสิว มักพบในครีมหรือโลชั่นที่ช่วยเร่งผิวขาว แต่ถ้าหากหยุดใช้ผิวจะยิ่งคล้ำเสีย สิวประทุหนัก เป็นฝ้าถาวร และถ้าใช้ไปนานวันเข้า สารปรอทสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

o สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) เป็นสารที่มีคุณสมบัติคล้ายกับสารปรอท คือออกฤทธิ์ยับยั้ง หรือกดกระบวนการสร้างเม็ดสีผิวเอาไว้ สามารถทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ มีอาการแสบร้อน มีตุ่มแดง เป็นฝ้าถาวร สีผิวไม่สม่ำเสมอหรือคล้ำเสีย และยังทำให้ผิวบางไวต่อแสงแดดอย่างมาก ในระยะยาวสามารถทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย

o กรดเรติโนอิก (Retinoic acid) กรดเรติโนอิกหรือที่เรียกแบบเข้าใจง่ายว่ากรดวิตามินเอ เป็นสารที่ออกฤทธิ์เร่งการผลัดเซลล์ผิว ช่วยลดการเคลื่อนย้ายเม็ดสีมาที่ผิวหนัง ทำให้ผิวขาวขึ้นและสามารถช่วยป้องกันการเกิดสิวได้ แต่ถ้าทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวที่มากจนเกินไป ก็สามารถทำให้ผิวหนังลอก เกิดการระคายเคือง ผิวอักเสบ ผิวบางลงจนแพ้แสงแดดได้ง่าย ทั้งยังทำให้ผิวด่างขาวเป็นจุดเป็นจ้ำด้วย

o สเตียรอยด์ (Steroids)

แท้จริงแล้วสเตียรอยด์ เป็นสารที่อนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ แต่มักมีผู้ประกอบการหลายคนที่นำมาใช้ผสมในครีมหรือเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานการผลิต อย่างเช่น พวกครีมเถื่อน โดยสเตียรอยด์จะออกฤทธิ์ทำให้หน้าเนียน ขาว ใสในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าหากหยุดใช้ผลลัพธ์ที่ได้จะตรงกันข้ามกับครั้งแรกที่ใช้ทันที คือจะเกิดผดผื่น ผิวแตก และผิวบางลงจนเห็นเส้นเลือดตามใบหน้า ผิวอ่อนแอและอ่อนไหวต่อมลภาวะ ผิวหนังสามารถติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือสามารถทำให้เกิดสิวอักเสบ หรือสิวสเตียรอยด์หนักที่ยากต่อการรักษา

มีวิธีสังเกตเครื่องสำอางที่ทำให้แพ้ได้อย่างไรบ้าง

ก่อนใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ซื้อมา มีวิธีสังเกตและทดสอบ ดังต่อไปนี้

  • ให้สังเกตว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดหลังจากที่เริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยใช้มาก่อนหรือไม่ หรืออาการดังกล่าวเกิดจากปัจจัยอื่น

  • กรณีที่ใช้ผลิตภัณฑ์หลายชนิด วิธีทดสอบคือ ให้หยุดใช้ทุกอย่างก่อน จากนั้นจึงกลับมาเริ่มใช้ทีละอย่าง แล้วให้รอดูอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังใช้ผลิตภัณฑ์นั้น หากไม่มีอาการแพ้ จึงทดลองใช้ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นๆต่อไปด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากใช้ผลิตภัณฑ์ตัวใดแล้วมีอาการแพ้ ก็ให้หยุดใช้แบบถาวร

  • ให้ทำการทดสอบการแพ้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่ท้องแขน โดยให้ทาผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะแพ้ โดยทาขนาดเท่าเหรียญสิบ เช้า – เย็น ที่ตำแหน่งเดิมทุกวันประมาณ1-2 สัปดาห์ แล้วให้สังเกตอาการ

  • กรณีที่แพ้แล้วมาพบแพทย์ แพทย์จะเป็นผู้ที่วินิจฉัยโดยการทดสอบทางผิวหนัง หรือที่เรียกว่า Patch test เพื่อหาสารส่วนประกอบหรือสารเคมีจากผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง ในระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมเพื่อนำมาทดสอบการแพ้ที่

ผิวหนังบริเวณหลังหรือแขน โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 วันในการอ่านผลครั้งแรก และอีก 2 วันในการอ่านผลครั้งต่อไป แต่ถ้าหากมีอาการผื่น แดงปรากฏบริเวณที่ทดสอบ แสดงว่าสารนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้นั่นเอง

รักษาอาการแพ้เครื่องสำอางได้อย่างไรบ้าง

ในการรักษาอาการแพ้เครื่องสำอาง สามารถทำได้เบื้องต้นดังต่อไปนี้

  • ให้หยุดใช้ แล้วให้รีบล้างออกทันที ถ้าอาการไม่ได้รุนแรงมาก ก็จะหายไปเองในเวลาไม่นาน

  • ใช้ยาไฮโดรคอร์ติโซนชนิดครีม 1 เปอร์เซ็นต์ ทาลงบนผิวบริเวณที่แพ้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาตัวดังกล่าวเสมอ

  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางทุกชนิด อย่างน้อย 6-12 เดือน เพื่อพักหน้าและหาสาเหตุของอาการแพ้ที่เกิดขึ้น

  • ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ moisturizer ให้ลือกใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของ Glycerin และ rose water ได้ ที่มีความอ่อนโยนต่อผิว ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

  • ในกรณีที่ไม่มีอาการระคายเคืองที่ริมฝีปากหรือรอบดวงตา สามารถใช้ลิปสติกและ เครื่องสำอางสำหรับดวงตาได้

  • กรณีที่รักษาด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะเป็นผู้ที่วินิจฉัยเพื่อรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากบริเวณที่เกิดอาการแพ้และระดับความรุนแรง ซึ่งในบางกรณีอาจต้องใช้สเตียรอยด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการรักษา โดยเฉพาะในผู้ที่เริ่มเป็นแผลพุพองและมีการติดเชื้อ

เมื่อแพ้เครื่องสำอาง มีผื่นขึ้นหน้า ต้องทำอย่างไร?

หากใช้เครื่องสำอางไปแล้ว มีอาการแพ้เกิดขึ้น เช่น มีผื่นขึ้นหน้าหรือเริ่มคันที่บริเวณใบหน้า สิ่งที่จะต้องทำ มีดังต่อไปนี้

  • หยุดใช้เครื่องสำอางทันที เมื่อมีอาการแพ้ ผื่นขึ้น คัน ระคายเคือง หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่น ควรหยุดใช้เครื่องสำอางนั้นๆทันที ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องสำอางหลายตัวพร้อมกัน เพราะถ้าหากแพ้ขึ้นมา จะดูไม่ออกว่าแพ้ตัวไหน

  • ใช้ยาทาแก้แพ้ สามารถใช้ยาทาแก้แพ้ได้ เพื่อบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรปรึกษาเภสัชกรเมื่อต้องซื้อยามาทา

  • กินทาแก้แพ้ เมื่อมีอาการแพ้เกิดขึ้น สามารถรับประทานยาแก้แพ้หรือยาแอนตี้ฮีสตามีน (Antihistamine) ที่มีความปลอดภัย ไม่ทำให้ง่วง เช่นยาแก้แพ้ ลอราทาดีน (Loratadine) ที่ใช้เป็นยาแก้แพ้ที่มีสาเหตุมาจากแพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สารอื่นๆ รวมทั้งแพ้เครื่องสำอาง ซึ่งแสดงออกมาโดยการเป็นลมพิษ ผื่นคัน ก็จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น

  • ไม่เกาหรือจับที่ใบหน้าบ่อยๆ ถ้าหากสัมผัสที่บริเวณผิวหน้าอยู่บ่อยๆ อาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง เกิดรอยไหม้หรือรอยแผลเป็นได้ และเป็นการเพิ่มโอกาสที่แผลจะติดเชื้อหรือลุกลามออกไป เนื่องจากที่มือของเราอาจมีเชื้อโรคมากมายติดอยู่

  • ให้ล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า ในช่วงที่มีอาการแพ้แนะนำให้งดแต่งหน้า หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารประกอบต่างๆหรือสารเคมีที่อาจทำให้เกิดการแพ้ ควรล้างหน้าด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่เด็กที่มีความอ่อนโยนสูง

  • หากแพ้อย่างรุนแรงควรไปพบแพทย์ หากกินยาแก้แพ้แล้ว ทายาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แถมยังมีแนวโน้มที่จะลุกลามมากขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

หลังแพ้เครื่องสำอาง มีวิธีดูแลผิวอย่างไร?

เมื่อผิวเกิดอาการแพ้เครื่องสำอาง นอกจากการหยุดใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางตัวดังกล่าวที่ทำให้แพ้แล้ว มีวิธีช่วยปรนนิบัติผิวได้ ดังต่อไปนี้

  • สังเกตและตรวจสอบส่วนผสมในเครื่องสำอาง ในการเลือกใช้เครื่องสำอางที่ถูกต้อง ควรเลือกที่เหมาะกับสภาพผิว เนื่องจากผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะมีส่วนประกอบที่ช่วยในการดูแลและฟื้นฟูผิวที่แตกต่าง และที่สำคัญ ควรมีการตรวจสอบก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง เลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังทั้ง 5-Free (Fragrance-Free, Paraben-Free, Coloring Agent Free, Alcohol-Free, Silicone-Free) รวมถึงพวกสารอันตรายต่างๆ ไม่ใช้ครีมเถื่อนที่ไม่มีมาตรฐานและไม่ได้รับการรับรอง เพื่อเป็นการป้องกันการแพ้ที่จะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

  • ไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับคนอื่น เนื่องจากว่าผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงผิวหรือเครื่องสำอางต่างๆ เป็นสิ่งที่จะต้องสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับคนอื่น เพราะไม่เพียงแต่เสี่ยงต่อการแพ้เท่านั้น แต่ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อผ่านทางผิวหนังได้ด้วย

  • ใช้เครื่องสำอางสูตรออร์แกนิคหรือสูตรธรรมชาติ เครื่องสำอางสูตรออร์แกนิคหรือสูตรธรรมชาติ ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติ สามารถช่วยลดโอกาสในการแพ้ได้มากขึ้น

  • เลือกใช้เครื่องสำอางที่มีความอ่อนโยนต่อผิว ได้แก่ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวที่แพ้ง่าย มีความอ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ทั้งยังช่วยปลอบประโลมผิวที่ถูกทำร้ายแล้วให้ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้นต้องมีประสิทธิภาพในการช่วยเสริมสร้างเกราะปกป้องผิวให้แข็งแรงตั้งแต่ระดับโครงสร้างภายใน เนื่องจากสภาพผิวที่ได้รับผลกระทบจากการแพ้ เช่น ผื่นคัน บวม แดง อักเสบ เป็นสภาพผิวที่ถูกทำร้ายและอ่อนแอมาก จึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นบำรุงอย่างแท้จริง อย่าง Fast skin repair โดย mesoestetic ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการบํารุงผิวที่ช่วยปลอบประโลมผิวได้อย่างอ่อนโยน ปกป้องผิวจากปัจจัยภายนอกที่ทําให้ผิวระคายเคือง เช่น มลภาวะ การระคายเคืองที่เกิดจากหัตถการทางการแพทย์ รวมถึงการแพ้เครื่องสำอาง พร้อมทั้งฟื้นบํารุงเกราะปกป้องผิวให้แข็งแรง ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับผิวที่มีความบอบบางและแพ้ง่ายโดยเฉพาะ

วิธีป้องกันอาการแพ้เครื่องสำอาง

อาการแพ้เครื่องสำอาง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเพศทุกวัย เพื่อความปลอดภัยและไม่ต้องเสียเวลาในการรักษาหน้าที่อาจพังในระยะยาว มีวิธีป้องกันอาการแพ้เครื่องสำอาง ดังต่อไปนี้

  • ให้หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิว ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอม สารแต่งกลิ่น สารแต่งสี สารกันบูด แอลกอฮอลล์ หรือส่วนผสมอื่นๆที่เป็นอันตรายต่อผิว

  • พิจารณาข้อมูลที่ระบุบนฉลากให้ละเอียด เครื่องสำอางทุกชนิดจะต้องมี“เลขที่ใบรับแจ้ง” แสดงบนฉลากภาษาไทย ซึ่งจะประกอบด้วยรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อการค้า ชื่อเครื่องสำอาง ส่วนผสม วิธีใช้ คำเตือน ชื่อ ที่ตั้งผู้ผลิต ปริมาณ วันเดือนปีผลิต วันหมดอายุ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิตเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง เป็นต้น พร้อมบอกวิธีการใช้เครื่องสำอางนั้นๆอย่างชัดเจน

  • ให้ทดสอบอาการแพ้ทางผิวหนังเบื้องต้น ก่อนที่จะใช้เครื่องสำอางแต่ละชนิด โดยให้ลองทาที่บริเวณท้องแขนก่อน หากมีการระคายเคืองหรือมีอาการแพ้ที่ผิวหนังให้หยุดใช้

  • หลังจากใช้เครื่องสำอาง ให้ปิดฝาผลิตภัณฑ์ให้สนิท เพื่อป้องกันฝุ่นละออง สิ่งสกปรก หรือเชื้อโรคต่างๆที่จะเข้าไปผสมในเครื่องสำอางนั้นๆ

  • ให้เลี่ยงการฉีดน้ำหอมเข้าสู่ผิวหนังโดยตรง แต่ให้ฉีดลงบนเสื้อผ้า และทิ้งเอาไว้ให้แห้งก่อนที่จะนำมาสวมใส่

  • งดการใช้เครื่องสำอางทุกประเภทที่เคยมีประวัติอาการแพ้แบบรุนแรงมาก่อน

  • เลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านที่มีหลักแหล่งแน่นอนและเชื่อถือได้

  • เลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีสารประกอบน้อยชนิด เพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญสารอันตราย หรือสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

  • เลือกซื้อเครื่องสำอางที่ระบุว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อย ปราศจากสารแต่งกลิ่นหอม หรือไม่ทำให้เกิดการอุดตันบนผิว

ผิวที่เกิดจากการแพ้เครื่องสำอาง สามารถแสดงออกได้ในหลายลักษณะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผดผื่น คัน บวม แดง หรือการระคายเคืองในลักษณะอื่นๆ ล้วนแต่สร้างความไม่สบายใจให้กับเจ้าของผิวทั้งสิ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผิว ควรเลือกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่มีสารประกอบหรือสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่ายๆ มีการทดสอบการแพ้ก่อนที่จะนำมาใช้ เพื่อผิวสวยๆจะได้ไม่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงของการแพ้จนยากเกินกว่าที่จะแก้ไขได้