เจาะลึกปัญหา ‘ฝ้า’ พร้อมวิธีการรักษาอย่างปลอดภัย

“ฝ้า” ปัญหาผิวกวนใจของใครหลาย ๆ คน ยิ่งอายุที่มากขึ้นปัญหาฝ้าก็ตามมาเป็นเงาตามตัว วันนี้เราก็มีสาระดี ๆ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับฝ้ามาฝากกัน ทั้งสาเหตุการเกิดฝ้า การป้องกัน รวมไปถึงวิธีการรักษาฝ้า เพื่อให้คุณมีผิวที่กลับมาสุขภาพดี อ่อนวัย และกระจ่างใสขึ้นกว่าเดิม

ฝ้าคืออะไร?

ฝ้า (Melasma) เป็นหนึ่งในปัญหาความผิดปกติของผิวที่มีลักษณะของรอยปื้นสีคล้ำตั้งแต่น้ำตาลอ่อน ๆ ไปจนถึงดำเข้ม เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนบนใบหน้า ทั้งบริเวณหน้าผาก จมูก และโหนกแก้มไล่ขึ้นไปถึงบริเวณขมับทั้งสองข้าง รวมไปถึงบริเวณคางและริมฝีปาก  โดยเกิดจากการที่เซลล์เม็ดสีเมลานิน (Melanin) ทำงานผิดปกติ โดยในระยะแรกจะขึ้นเป็นวงเล็กๆสีน้ำตาลก่อน และถ้าหากปล่อยทิ้งเอาไว้ก็จะค่อยๆขยายตัวออกไปเป็นปื้นและฝังลึกลงไปในเซลล์ผิว โดยผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นฝ้ามากกว่าผู้ชายถึง 9 เท่า และมักจะเกิดกับผู้หญิงวัยกลางคนอายุประมาณ 30-40 ปีขึ้นไป  โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์หรือมีการใช้ยาคุมกำเนิด และผู้หญิงที่มีสีผิวคล้ำหรือผิวสีเข้มจะมีโอกาสเป็นฝ้าง่ายกว่าผิวสีอื่น

ชนิดของเซลล์เม็ดสีเมลานิน

เซลล์เม็ดสีเมลานิน (Melanin) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • ยูเมลานิน (Eumelanin) มีลักษณะเป็นเม็ดสีคล้ำโทนน้ำตาลค่อนไปทางเข้มมักพบในกลุ่มคนแอฟริกันและคนเอเชีย
  • ฟีโอเมลานิน (Pheomelanin) มีลักษณะเป็นเม็ดสีแดงอมเหลืองมักพบในกลุ่มคนยุโรป

ซึ่งถ้าหากเกิดความผิดปกติขึ้นกับเซลล์เมลาโนไซต์ที่สร้างเมลานินมากจนผิดปกติก็จะทำให้เกิดปัญหาผิวต่าง ๆ ตามมา เช่น ไฝ ชี้แมลงวัน รวมไปถึงปัญหาฝ้าและกระด้วย

กระบวนการของการเกิดฝ้าจากเซลล์เม็ดสีเมลานิน

โดยปกติ ใต้ผิวหนังของคนเราจะมีเซลล์ที่มีชื่อว่าเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งจะทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีเมลานินขึ้นมาปกป้องผิว โดยจะช่วยดูดซับหรือกรองรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตไม่ให้ทำร้ายผิว แต่ถ้าหากกรณีที่ผิวของคนเราได้รับแสงแดดมากจนเกินไป เมลานินก็จะต้องปกป้องผิวมากขึ้นด้วยการผลิตเม็ดสีออกมามากจนเกินไปและมีการทำงานที่ผิดปกติ  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้านั่นเอง นอกจากเมลานินจะอยู่ตามผิวหนังแล้ว เรายังสามารถพบเมลานินได้ตามเส้นผมและขนตามส่วนต่างๆของร่างกายด้วย

ชนิดและประเภทของฝ้า

ฝ้าที่เกิดขึ้นบนใบหน้าของเรานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ดังต่อไปนี้

  • ฝ้าตื้น (Epidermis Melasma)
    เป็นความผิดปกติของเมลานินที่มากเกินไปในผิวชั้นบนหรือหนังกำพร้า (Epidermis) ขอบสีของฝ้าจะเป็นสีน้ำตาลออกไปทางคล้ำ สามารถมองเห็นขอบได้ชัดเจน และมักจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ โดยขาดการรักษา อาจนำไปสู่การเกิดฝ้าที่ขยายวงกว้างขึ้น
  • ฝ้าลึก (Dermis Melasma)
    เป็นความผิดปกติของเมลานินที่มากเกินในผิวชั้นหนังแท้ (Dermis) ซึ่งอยู่ลึกลงไปทำให้ตัวฝ้ามีลักษณะเป็นปื้นไม่เห็นขอบชัดเจน มีสีน้ำตาลเทาหรือสีม่วงอมน้ำเงิน ฝ้าชนิดนี้จะรักษาให้หายได้ยากกว่าฝ้าตื้น
  • ฝ้าผสม (Mixed Melasma)
    แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะมีฝ้าทั้งสองชนิดเกิดขึ้นผสมกันทั้งในระดับฝ้าตื้นบนชั้นหนังกำพร้าและฝ้าลึกในชั้นหนังแท้ สังเกตได้จากบริเวณที่เกิดปัญหาฝ้ามักจะมีปื้นสีเข้มตรงกลางแล้วขอบ ๆ มักจะเป็นจุดบาง ๆ โดยตรงกลางสีเข้ม ๆ มักจะเป็นฝ้าลึก ส่วนบริเวณขอบจาง ๆ มักจะเป็นฝ้าตื้น ซึ่งฝ้าในลักษณะนี้ สามารถตอบสนองต่อการรักษาในบางบริเวณเท่านั้น
  • ฝ้าแดด
    ฝ้าแดดเป็นผลพวงที่เกิดจากรังสียูวีเอและยูวีบี เนื่องจากรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต เป็นรังสีที่มีความเข้มข้นสูง มีคลื่นความยาวสูง สามารถทำลายผิวได้ลึก รวมถึงพวกแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนและหลอดไฟด้วย รังสีและแสงเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นการผลิตเม็ดสีภายในผิวหนัง ทำให้ผิวหมองคล้ำและเกิดเป็นฝ้าแดดได้
  • ฝ้าเลือด
    โดยปกติ ฝ้าเลือดจะมีลักษณะเป็นปื้นสีแดง ซึ่งเกิดจากระบบฮอร์โมนในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบผิดปกติ นอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับการใช้ยาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนหรือยาประเภทที่ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยทำงานผิดปกติด้วย
  • ฝ้าที่ไม่สามารถระบุได้
    ส่วนมากพบในผู้ที่มีผิวสีเข้มมาก เช่น ชาวแอฟริกัน เป็นต้น

ซึ่งวิธีแยกฝ้าแต่ละชนิดจะทำได้ด้วยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า Wood’s lamp เป็นเครื่องมือทดสอบสุขภาพผิวรวมไปถึงรอยโรคและความผิดปกติต่าง ๆ บนผิวหนังด้วยการฉายแสงสีฟ้าลงไปบนผิวก็จะช่วยวินิจฉัยชนิดของฝ้าได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ

ฝ้า กระ และจุดด่างดำ ต่างกันยังไง

ฝ้า กระ และจุดด่างดำเป็นปัญหาผิวที่คล้ายกันมาก จนบางทีเราก็สับสนคิดว่าเป็นปัญหาเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วมีความแตกต่างกันอยู่ โดยที่ฝ้า (Malasma) นั้นจะมีลักษณะเป็นปื้น กินพื้นที่กว้างกว่า ในขณะที่กระ (Freckle) นั้นจะเป็นจุดกลมมีสีน้ำตาลขนาดเล็กเกิดได้กับทุกส่วนบนใบหน้าแต่จะไม่เป็นปื้นเหมือนฝ้า ส่วนจุดด่างดำนั้นเป็นปัญหาผิวที่ไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดจุดดำเข้มกว่าผิวบริเวณรอบ ๆ ซึ่งมักเกิดจากการอักเสบของผิว เช่น รอยแดงรอยดำจากสิว เป็นต้น

สาเหตุของการเกิดฝ้า

ปัญหาฝ้าบนใบหน้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งแบ่งได้ 2 ปัจจัย ดังนี้

  1. ปัจจัยภายนอก
  • แสงแดด
    แสงแดดเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเกิดฝ้าเลยทีเดียว เพราะมีรังสี UVA และ UVB ซึ่งไปกระตุ้นเซลล์เมลาโนไซต์ให้ผลิตเม็ดสีเมลานินมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาฝ้าตามมา
  • แสงจากหน้าจอ
    นอกจากแสงแดดแล้วแสงจากหน้าจอทั้งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็ปเลต โทรทัศน์ รวมไปถึงแสงจากหลอดไฟก็เป็นตัวกระตุ้นให้เม็ดสีเมลานินทำงานผิดปกติ จนส่งผลทำให้เกิดฝ้าขึ้นบนใบหน้า
  • ความร้อน
    ความร้อนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝ้า เนื่องจากความร้อนจะก่อให้เกิดอนุมูลอิสระทำให้เซลล์ผิวถูกทำร้าย โดยตัวอนุมูลอิสระจะเข้าไปกระตุ้นให้เม็ดสีเมลานินทำงานเพิ่มขึ้น ยิ่งมีความร้อนสะสมเป็นเวลานาน ๆ ก็ยิ่งทำให้ฝ้าเข้มขึ้น สามารถสังเกตได้จากคนที่ต้องทำงานอยู่กับความร้อนอย่างคนที่ต้องทำอาหารอยู่หน้าเตาสัมผัสความร้อนตลอดเวลา โอกาสจะเกิดฝ้าก็สูงขึ้นตามด้วย
  • การแพ้สารเคมีในเครื่องสำอาง
    การแพ้เครื่องสำอางและสกินแคร์ที่มีสารอันตรายต่อผิวพวกสารปรอท ไฮโดรควิโนน กรดเรทิโนอิก ฯลฯ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดฝ้า ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อใช้ไปนานเข้าจะทำให้ผิวบางแสบแดง เนื้อเยื้อผิวเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดฝ้าถาวรขึ้น และสารเหล่านี้อาจถูกดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดอาจก่อให้เกิดพิษในร่างกาย และยังกลายเป็นสารก่อมะเร็งได้ด้วย
  • การใช้ยาบางชนิด
    การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ผิวมีความไวต่อแสง เช่นพวกยากันชัก (Anticonvulsant) ยาปฏิชีวนะบางชนิด กลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs) เรตินอยด์ (Retinoid) กลุ่มยาลดน้ำตาลในเลือด (Hypoglycaemics) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) และยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) สามารถทำให้เกิดฝ้าในระยะยาวได้
  1. ปัจจัยภายใน
  • ฮอร์โมน
    ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอรโรน (progesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมีส่วนทำให้ผิวไวต่อแสงแดดและความร้อน ส่งผลให้เม็ดสีเมลานินใต้ชั้นผิวทำงานมากเกินปกติ ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงมีโอกาสเป็นฝ้าง่ายกว่าผู้ชาย สถาบันโรคผิวหนังแห่งสหรัฐอเมริกา (the American Academy of Dermatology) พบว่า 90% ของคนเป็นฝ้าคือผู้หญิง โดยเฉพาะหญิงวัยกลางคนวัย 30-40 ปี
  • ยาคุมกำเนิด
    การใช้ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานานก็ทำให้เกิดฝ้าได้ เพราะในยาคุมกำเนิดนั้นมีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ ซึ่งจะกระตุ้นให้เม็ดสีเมลานินทำงานผิดปกติจนเกิดฝ้าตามมา
  • การตั้งครรภ์
    ในช่วงตั้งครรภ์ฮอร์โมนเพศหญิงจะสวิงไม่ปกติส่งผลให้ไปกระตุ้นให้เม็ดสีเมลานินทำงานผิดปกติตามไปด้วย จึงเกิดเป็นปัญหาฝ้าขึ้นในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ ยิ่งถ้าโดนแดดและความร้อนร่วมด้วยก็จะยิ่งทวีคูณความหนาของฝ้ามากขึ้นไปอีก
  • กรรมพันธุ์
    กรรมพันธุ์มีส่วนทำให้เกิดฝ้า 50% เลยทีเดียว ครอบครัวไหนมีพันธุกรรมผิวไวต่อแสงหรือเม็ดสีเมลานินทำงานผิดปกติ บุคคลในครอบครัวก็จะมีโอกาสเกิดฝ้าได้สูง เช่นเดียวกับคนที่มีผิวคล้ำก็จะมีแนวโน้มเกิดฝ้าได้ง่ายกว่าคนผิวขาวหรือผิวสองสี
  • โรคบางชนิด
    โรคบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดฝ้าได้ เช่น โรคไทรอยด์  ซึ่งโดยปกติต่อมไทรอยด์จะอยู่บริเวณลำคอหน้าต่อหลอดลมบริเวณคอ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่ทำให้หน้าที่รักษาระดับเมตาบอลิซึ่มของร่างกาย ช่วยควบคุมความดันโลหิต ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและน้ำหนัก และถ้าหากว่าต่อมไทรอยด์มีปัญหา อาจเสี่ยงทำให้เกิดฝ้าได้ด้วยเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้นยังรวมไปถึงโรคและภาวะต่างๆที่สามารถทำให้เกิดฝ้าได้  เช่นความเครียดสะสม การขาดวิตามินบี 12 รวมไปถึงโรคตับ ที่มักจะพบว่ามีผื่นขึ้นและมีปื้นของฝ้าร่วมด้วยได้ ถ้าเป็นกรณีนี้จะต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและหาแนวทางรักษาต่อไป

การวินิจฉัยฝ้า

ในการวินิจฉัยฝ้านั้น ในเบื้องต้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยรอยฝ้าด้วยตาเปล่า แต่ในการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุนั้นจะต้องใช้วิธีตรวจเพิ่มเติม โดยการใช้แสงอัลตร้าไวโอเลต(Wood Lamp Examination) เพื่อตรวจหาความลึกของฝ้า รวมถึงหาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบนผิวหนังด้วย นอกจากนี้ แพทย์จะติดตามผลการรักษาด้วยการประเมินลักษณะของฝ้าโดยใช้เกณฑ์ Melasma Area and Severity Index หรือ MASI

ในผู้ป่วยบางราย แพทย์จะมีการตรวจต่อมไทรอยด์ร่วมด้วย เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากที่ความผิดปกติของต่อมไทยรอยด์จะส่งผลให้เกิดฝ้าขึ้นบนใบหน้า หรือในการณีที่ผิวหนังของผู้ป่วยมีสีน้ำตาลหรือสีน้ำเงิน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นอาการหรือสีของฝ้าเสมอไป ดังนั้นแพทย์จะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรคที่อาจคล้ายคลึงกับฝ้า เช่น กระจากแดด (Solar Lentigo)  ไลเคน พลานัส (Lichen Planus) กระลึก (Nevus of Hori) หรือปานโอตะ (Nevus of Ota) เป็นต้น

วิธีรักษาฝ้า

        หากเกิดปัญหาฝ้าบนใบหน้าแล้ววิธีการดูแลรักษาให้ฝ้าจางลง และผิวกลับมากระจ่างใสสุขภาพดีอีกครั้งมีดังนี้

  1. ทาผลิตภัณฑ์กันแดด

ทากันแดดเพื่อป้องกันการเกิดฝ้าใหม่ ไม่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีเฉพาะค่า SPF เพียงอย่างเดียว เพราะจะกันได้แค่รังสี UVB ควรจะเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า PA ที่ช่วยป้องกันรังสี UVA ด้วย ยิ่งค่า PA มีเครื่องหมายบวก (+) มากเท่าใดยิ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูง

วิธีการทาผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องใช้ในปริมาณ 2 ข้อนิ้วมือ สำหรับทาใบหน้าและลำคอ ควรทาก่อนออกไปโดนแดดอย่างน้อย 15 -30 นาที และควรหมั่นทาซ้ำระหว่างวันทุก ๆ  2-3 ชั่วโมง เพื่อให้คงประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันแสงแดดและรังสียูวี

  1. ทาสกินแคร์รักษาฝ้า

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มครีมทาฝ้า หรือไวท์เทนนิ่ง แนะนำว่าให้มองหาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามินซี อัลฟ่าอาบูติน ฯลฯ ก็จะช่วยปรับสภาพผิวให้กระจ่างใส ลดเลือนฝ้าให้จางลงได้ อย่างผลิตภัณฑ์เพื่อการบำบัดรักษาฝ้า  cosmelan by meso estetic ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้

  • COSMELAN 1 facial mask
    มีส่วนประกอบด้วยสารสกัดที่มีความเข้มข้นสูง ช่วยผลัดเซลล์เก่าบริเวณด้านนอกออก เพื่อช่วยลดเลือนฝ้ากระบนผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้มาส์กทิ้งไว้ประมาณ 8-12 ชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับสภาพผิวและประเภทของสีผิว ซึ่งจะต้องใช้ให้หมดกระปุกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยก่อนมาส์ก ให้ทาวาสลีนในบริเวณผิวหนังที่บอบบาง เช่น มุมปาก ใต้ตาและร่องจมูก เพื่อป้องกันการระคายเคือง
  • COSMELAN 2 cream (maintenance cream)
    เป็นครีมทาผิวที่ช่วยลดเลือนฝ้า กระ และจุดด่างดำอย่างต่อเนื่องภายหลังการใช้ COSMELAN 1 facial mask เพื่อป้องกันการเกิดรอยดำขึ้นมาใหม่ และป้องกันการเกิดรอยดำซ้ำ ทั้งยังช่วยคงไว้ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาวอีกด้วย
  • melan recovery
    บาล์มบำรุงผิวสูตรเข้มข้น ที่ช่วยปลอบประโลมผิวและช่วยฟื้นบำรุงผิวได้อย่างล้ำลึก ใช้หลังจากการทาทรีตเม้นท์ที่อาจทำให้ผิวหลุดลอกหรืออาจมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง ทั้งยังช่วยปกป้องผิวให้แข็งแรงมากขึ้น
  • mesoprotech melan 130 pigment control
    ครีมกันแดดสีเบจ ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยปกป้องผิวจากรังสี UV (UVA & UVB) พร้อมทั้งช่วยลดเลือนและป้องกันการเกิดจุดด่างดำและความหมองคล้ำของผิวอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยเนื้อสัมผัสที่บางเบา เกลี่ยง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ ไม่ระคายเคืองผิว

  1. สครับผิว

การสครับผิวเป็นการเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วให้หลุดออกอย่างอ่อนโยน เซลล์ผิวเก่าที่เป้นฝ้าก็จะค่อย ๆ หลุดออกและจางลง เผยผิวใหม่ที่กระจ่างใสสุขภาพดีกว่าเดิม ทั้งนี้ ควรเลือกใช้สครับที่ไม่ทำร้ายผิว ไม่บาดผิวจนอักเสบแสบแดง ไม่เช่นนั้นอาจกระตุ้นให้ผิวบางและไวกว่าแสง แล้วจะก่อให้เกิดฝ้าใหม่ได้ง่าย

  1. ทรีทเมนต์ผลัดเซลล์ผิว

การใช้ทรีทเมนต์จากกรดผลไม้อ่อน ๆ อย่าง AHA และ BHA เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาฝ้า เพราะกรดผลไม้เหล่านี้จะเข้าไปลอกเซลล์ผิวเก่าที่เป็นฝ้าให้หลุดลอกออกไปอย่างอ่อนโยน แต่ผลข้างเคียงคือความรู้สึกแสบและคันยิบ ๆ ระหว่างทำ บางคนอาจจะแพ้  รวมถึงการการผลัดเซลล์ผิวหนัง (Superficial Skin Peels)โดยการใช้สารเคมี ประเภทสารที่มีความเป็นกรดหรือสารฟอกขาว เช่น กรดไกลโคลิก หรือกรดซาลิซิลิก ที่ช่วยเร่งให้ผิวเกิดการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก เพื่อช่วยให้สีผิวมีความสม่ำเสมอมากขึ้น แต่อาจเกิดผลข้างเคียงคือเสี่ยงต่อการทำให้สีผิวเข้มมากขึ้น หน้าบาง หรือเกิดจุดด่างขาวบนผิวขึ้นได้ ดังนั้น จึงควรอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ

  1. ยารักษาฝ้า

ในเบื้องต้น แพทย์จะเริ่มต้นให้ใช้ยาทาที่เป็นประเภทของครีม โลชั่นหรือเจลที่มีส่วนผสมในการเอนไซม์ไทโซซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการสร้างเม็ดสีเมลานิน เช่น สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) สารเตรทติโนอิน (Tretinoin) และยาสเตียรอยด์สำหรับใช้ภายนอกที่มีความแรงปานกลาง  นอกจากนั้นแล้ว แพทย์ยังใช้สารตัวอื่นในการรักษาร่วมด้วย  เช่น กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) กรดโคจิก (Kojic Acid) ซีสทีอามีน (Cysteamine) ยาสเตียรอยด์ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) เมไทมาโซล (Methimazole) กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic Acid) กลูตาไธโอน (Glutathione) และสารสกัดจากถั่วเหลือง (Soybean Extract) เป็นต้น  และนอกเหนือจากยาที่ใช้รักษาเฉพาะที่แล้ว แพทย์อาจจ่ายยาชนิดรับประทานในผู้ป่วยบางราย อย่างยาเมไทมาโซล (Methimazole) หรือกรดทรานเอกซามิก  เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในการใช้ยารักษาฝ้าควรอยู่ในดุลพินิจและการควบคุมของแพทย์ผิวหนังเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามาใช้เองโดยเด็ดขาด

  1. เลเซอร์

การทำเลเซอร์เป็นวิธีการรักษาฝ้าที่เป็นที่นิยมสูงมาก เพราะเห็นผลเร็ว แต่ต้องอาศัยการรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนประสิทธิภาพในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับสภาพผิวของแต่ละคน ซึ่งหลักการก็คือยิ่งแสงเลเซอร์เข้าไปแตกตัวให้เม็ดสีเมลานินกระจายตัว เป็นการทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีด้วยความร้อน เพื่อปรับภาพหรือรักษาความผิดปกติของเม็ดสี ทำให้ผิวบริเวณที่เป็นฝ้าจางลง เลเซอร์ที่นิยมใช้ เช่น คิวสวิตช์ หรือ Q-switched Laser หรือ YAG Laser นอกจากนั้นยังมีวิธีการส่งกระแสไฟฟ้าหรือคลื่นความถี่ต่ำอย่าง Rejuvenation และ Ultralift เพื่อผลักสารบำรุงเข้าสู่ผิว ช่วยดูแลรักษาให้รอยฝ้าดูจางลง

  1. การฉีดวิตามินผิวและการฉีดเมโสหน้าใส

การฉีดวิตามินผิวและการฉีดเมโสหน้าใส เป็นการช่วยฟื้นฟูปัญหาผิว ไม่ว่าจะเป็นผิวคล้ำเสีย ผิวไม่สดใส และผิวแห้งกร้าน ทั้งยังช่วยลดการเกิดเมลานิน ทำให้ผิวมีความกระจ่างใสขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมคอลลาเจน เพิ่มความยืดหยุ่น กระชับให้กับผิว

  1. การขัดผิวหนัง (Dermabrasion)

เป็นหนึ่งวิธิในการขัดผิวหนังชั้นบนออกด้วยอุปกรณ์ที่มีแปรงหรือวงล้อขัดที่ผิวหนังชั้นนอก

  1. การกรอผิวด้วยผงผลึกแร่ (Microdermabrasion)

เป็นลักษณะของการพ่นผลึกคริสตัลไปที่ผิวหนัง เพื่อขจัดผิวหนังชั้นบนออก ซึ่งหลังจากการรักษาผิวของผู้เข้ารับการรักษาอาจมีการอักเสบหรือบวมเล็กน้อย

ภาวะแทรกซ้อนของฝ้า

แท้จริงแล้ว “ฝ้า” ไม่ได้ส่งผลเสียหายหรืออันตรายใดๆต่อร่างกาย แต่จะส่งผลในเรื่องของความสวยงามและความมั่นใจของผู้ที่เป็น และหลังจากการรักษา เป็นไปได้ว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างตามมา เช่น เกิดอาการอักเสบของผิวหนังอันเนื่องมาจากการแพ้ยาไฮโดรควิโนน ยาเตรทติโนอิน และกรดอะซีลาอิค หรือผิวหนังชั้นบนอาจถูกทำร้าย อันเนื่องมาจากการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีจะเกิดเป็นรอยด่าง เกิดแผลเป็นนูนและเกิดรอยดำ เป็นต้น

วิธีป้องกันฝ้า

เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดฝ้าในระยะยาว เราจึงมีวิธีป้องกันฝ้าแต่เนิ่นๆมาบอกเล่าสู่กันฟัง ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับความร้อนนานๆ
    รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการออกแดดช่วง 10.00 -16.00 น. เพราะเป็นช่วงที่แดดแรง มีปริมาณของรังสียูวีสูง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมหมวกและเสื้อแขนยาวปกปิดผิวหนังให้มิดชิด หรือไม่ก็กางร่มกันยูวีกันแสงแดด
  • ทาผลิตภัณฑ์กันแดด
    ไม่ว่าจะเป็นครีมกันแดด เซรั่มกันแดด หรือสเปรย์กันแดดที่มีส่วนผสมของค่าป้องกันแดดและรังสียูวี หรือค่า SPF (Sunburn Protection  Factor) ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป โดยค่า SPF15 เหมาะกับคนที่อยู่ในร่มไม่ออกแดดจัด ส่วนค่า SPF 15 – 30 เหมาะกับคนต้องออกกิจกรรมกลางแจ้ง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางและสกินแคร์ที่อาจก่อให้เกิดการแพ้หรือมีสารอันตราย
    ไม่ได้มาตรฐานการผลิตเนื่องจากอาจมีสารที่ทำให้เกิดฝ้าขึ้นได้ในระยะยาว โดยเฉพาะครีมเถื่อน ครีมทาหน้าขาว ที่เห็นผลเร็ว เห็นผลไวใน 3 วัน 7 วัน ซึ่งแท้จริงมีสารอันตรายมากมายแฝงอยู่
  • หยุดยาที่เป็นสาเหตุของฝ้า เช่น ฮอร์โมนทดแทน ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
  • ดูแลสุขอนามัย
    โดยให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ขับถ่ายให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงความเครียด เพราะจะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เมลานินทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้เกิดฝ้าได้โดยง่าย รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเทศ ฝรั่ง ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้ตามปกติ

บทสรุปของการดูแลปัญหาฝ้า

ปัญหาฝ้าบนใบหน้าเป็นเป็นหาผิวที่รักษาให้หายอยากมากต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะดีขึ้น ที่สำคัญไม่มีวิธีไหนการันตีได้ว่าฝ้าจะหายขาดได้ 100% โดยไม่กลับมาเป็นอีก เราทำได้เพียงแค่ป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าบนใบหน้าด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดฝ้า หลัก ๆ เลยคือการทากันแดดปกป้องผิวไม่ให้ถูกแสงยูวีทำร้าย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา ป้องกันผิวถูกทำร้าย ให้ผิวอ่อนวัยสุขภาพดีบอกลาฝ้าไปได้เลย

ใส่ความเห็น