“แสงแดด” เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาผิวพรรณมากมายตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ ฝ้าแดด ” ที่พบได้มากในคนไทย เนื่องจากเป็นเมืองร้อน ได้รับแสงแดดในปริมาณที่มาก นอกจากแสงแดดแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นใดอีกบ้างที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดฝ้าแดด ปัจจุบันมีแนวทางในการรักษาอย่างไรบ้าง และมีวิธีรับมือกับฝ้าแดดอย่างไรให้ตรงจุด เพื่อจะได้ดูแล ปกป้องผิวได้อย่างทันท่วงที ก็จะสามารถช่วยชะลอการเกิดฝ้าแดดได้อีกทางหนึ่ง
ลักษณะอาการของ ฝ้าแดด
“ ฝ้าแดด ” เป็นฝ้าประเภทหนึ่งที่มักมีลักษณะเป็นรอยสีน้ำตาลคล้ำ ดำ แดง หรือสีเทาอมม่วง และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลผิวอย่างถูกวิธี สีของฝ้าก็ยิ่งเข้มมากขึ้น มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เพศหญิงมักมีอาการของฝ้าแดดมากกว่าเพศชาย ซึ่งโดยปกติ ฝ้าแดดจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังต่อไปนี้
- ฝ้าแดดแบบตื้น มีสาเหตุมาจากการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin pigment) ที่มากกว่าปกติในระดับผิวหนังชั้นนอกหรือชั้นหนังกำพร้า ส่วนใหญ่ฝ้าลักษณะนี้มักมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ มีขอบชัด เกิดขึ้นได้โดยง่ายและรักษาได้เร็วกว่า
- ฝ้าแดดแบบลึก เกิดจากการสร้างเม็ดสีเมลานิน(Melanin pigment) ที่มากกว่าปกติในระดับชั้นหนังแท้ มีสีม่วงอมน้ำเงิน รักษาได้ยากกว่าฝ้าแดดแบบตื้น
ความแตกต่างระหว่าง “ ฝ้าแดด ” กับ “ฝ้าเลือด”
“ฝ้าแดด” และ “ฝ้าเลือด” ถ้ามองโดยผิวเผิน อาจจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่แท้ที่จริงแล้วฝ้าทั้ง2ชนิดมีสาเหตุและลักษณะที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
- ฝ้าแดด จะมีลักษณะเป็นรอยสีเข้มบนใบหน้าดังที่กล่าวมาแล้ว โดยมีสาเหตุมาจากรังสียูวีจากแสงแดดแสงไฟ หรือแสงจากจอคอมพิวเตอร์ แล้วกระตุ้นให้มีการผลิตเม็ดสี (เมลานิน) ขึ้นมาภายใต้ผิวหนัง
- ฝ้าเลือด (Vascular) เป็นฝ้าที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย รวมถึงการใช้ยาบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน รวมถึงยาที่ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยบนผิวหน้าทำงานผิดปกติ เช่น มีอาการเส้นเลือดฝอยแตก หรือมีเลือดไปกระจุกอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งใต้ผิวหนังมากจนเกินไป มักมีสีน้ำตาลแดง
สาเหตุของการเกิด ฝ้าแดด
“ฝ้าแดด” เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเม็ดสีหรือเมลานินที่มากจนเกินไป มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆร่วมกันดังต่อไปนี้
- แสงแดด
เนื่องจากในแสงแดดมีแสงยูวี( UV – UltraViolet) ที่จะไปกระตุ้นให้ผิวหน้าของคนเราสร้างเม็ดสีเมลานินให้เพิ่มมากขึ้น จากนั้นจะเกิดการสะสมจนหนาตัวขึ้น เกิดเป็นฝ้าแดดได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังรวมไปถึงแสงประเภท HEVIS (High Energy Visible Light) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากแสงไฟในที่ต่างๆ แสงจากโทรศัพท์มือถือ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงความร้อนจากพลังงานในการทำอาหาร การอบซาวน่าเป็นเวลานานๆและบ่อยครั้ง เป็นต้น - ระบบฮอร์โมนในร่างกาย
โดยปกติในร่างกายของมนุษย์จะมีฮอร์โมนที่ชื่อเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน เมื่อฮอร์โมนเล่านี้ได้รับการกระตุ้นให้มีมากขึ้นกว่าปกติ ทั้งจากการกินยาคุมหรือการตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสเกิดฝ้ามากกว่าคนทั่วไป - การใช้เครื่องสำอางที่ไม่มีคุณภาพ
เครื่องสำอางที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่มีมาตรฐานในการผลิต มักจะใส่สารปรอทหรือสารเคมีที่อันตรายลง เพื่อให้ผิวดูขาวเร็ว ขาวไวภายในระยะเวลาสั้นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำลายลึกลงไปถึงระดับโครงสร้างผิว ส่งผลเสียต่อผิวในระยะยาวและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้าได้อีกด้วย นอกจากนั้น เมื่อเลือกใช้เครื่องสำอาง ควรมีการอ่านรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีน้ำหอม แอลกอฮอล์ และสารเคมีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองหรือแพ้ได้ง่ายด้วยเช่นกัน - การรับประทานยาบางชนิด
จากผลการสำรวจพบว่า ยางบางชนิดสามารถไปกระตุ้นให้เกิดฝ้ามากขึ้นได้ เช่นในกลุ่มยากันชักและยาคุมกำเนิด - การขาดวิตามิน
การที่ร่างกายขาดวิตามินบางชนิด อย่างเช่น วิตามินบี 12 อาจส่งผลให้ร่างกายแปรปรวน และการดื่ม แอลกอฮอลล์อย่างหนัก ส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินได้ง่ายที่สุด เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้าได้ - การอบซาวน่า
การอบซาวน่า เป็นการรับความร้อนโดยตรงจากไอน้ำ ซึ่งอาจจะไปกระตุ้นที่ผิวหน้าที่บอบบางเกิดฝ้าแดด กระ หรือจุดด่างดำขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน - ปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นพันธุกรรม และอายุ เป็นต้น
การรักษาฝ้าแดด
วิธีการรักษาฝ้าแดด สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งในการรักษาก็ขึ้นอยู่กับประเภทของฝ้ารวมถึงสภาพผิวของแต่ละบุคคลด้วย โดยสามารถแบ่งประเภทการรักษาออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
การใช้ยาในการรักษาฝ้าแดด
การใช้ยาในการรักษาฝ้าแดด แบ่งออกเป็นอีก 2 ลักษณะคือ
- ประเภทยาทารักษาฝ้าแดด เนื่องจากยาทาฝ้าส่วนใหญ่มักมีค่ากรดที่ค่อนข้างสูง เพื่อก่อให้เกิดการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ผิวเกิดการะคายเคือง แสบ ผิวลอก ดังนั้นจำเป็นต้องใช้ยารักษาฝ้าในปริมาณที่เหมาะสมและควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยตัวยาที่ใช้ในการรักษาฝ้ามักมีส่วนประกอบหลัก ดังต่อไปนี้
- กลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (Topical Retinoids/Retinoic Acid)
- กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
- กรดโคจิก (Kojic Acid)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid)
- ประเภทยารับประทานรักษาฝ้าแดด ยารับประทานเพื่อรักษาฝ้าแดด แพทย์มักจะจ่ายควบคู่กับยาทาเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการลดเลือนฝ้าและรอยดำ ยับยั้งการสร้างเม็ดสี ช่วยทำให้ฝ้าแดดจางลงได้ ได้แก่ยาในกลุ่ม ไฮโดรคิวโนน Azelaic acid,Kojic acid, Topical steroid ,Glycolic acid, Mequinol, Arbutin รวมถึงวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินA,C,E โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำการใช้ยาอย่างละเอียด เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้
การทำหัตถการทางการแพทย์รักษาฝ้าแดด
- การทำเลเซอร์รักษาฝ้าแดด เป็นการใช้ลำแสงจากเลเซอร์เข้าไปช่วยกำจัดเม็ดสีเมลานิน นับเป็นวิธีที่มีความแม่นยำและตรงจุดที่สุด หลักการทำงานของเลเซอร์คือจะมีการส่งตรงพลังงานลงไปในชั้นเม็ดสีที่เกิดฝ้าโดยตรง แสงจากเลเซอร์จะช่วยทำลายกลุ่มก้อนของเม็ดสีที่รวมตัวกันอย่างผิดปกติให้แตกกระจายตัวออกจากกัน และเมื่อเม็ดสีบางส่วนถูกทำลาย ก็จะปล่อยให้กระบวนการของร่างกายมาเก็บกินของเสียและขับออกไปในที่สุด เป็นวิธีการรักษาเสริม เนื่องจากมีราคาค่อนข้างสูง และมีผลข้างเคียงที่อาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากกว่าปกติ และควรทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากทำไม่ได้มาตรฐานอาจจะทำให้เกิดรอยไหม้และเสี่ยงต่อการเกิดฝ้าที่เข้มขึ้นและขยายวงกว้างออกไปได้ นอกจากนั้นยังอาจทำให้เกิดแผลขึ้นที่ใบหน้าได้อีกด้วย
- การลอกผิวเพื่อรักษาฝ้าแดด วิธีการรักษาฝ้าแดดลักษณะนี้ต้องการความละเอียดและแม่นยำเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งในการลอกชั้นผิวด้วยกรดหรือสารเคมีอาจจะทำให้ฝ้าจางลงได้ แต่ถ้าหากว่าลอกในชั้นผิวที่ลึกมากจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดแผลเป็นชนิดถาวร ทำให้ผิวบอบบาง ผิวแห้ง และไวต่อแสงมากขึ้นด้วย
- การทำทรีตเม้นท์รักษาฝ้าแดด การบำบัดผิวด้วยการทำทรีตเม้นท์ เป็นการใช้คลื่นพลังงานเปิดรูขุมขน แล้วผลักตัวยาหรือวิตามินต่างๆลงไปสู่ชั้นผิว ช่วยลดเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำและทำให้หน้าดูกระจ่างใสขึ้นด้วย นอกจากนั้น ยังสามารถรับประทานวิตามินเสริม เช่น วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินซี ก็จะช่วยลดเลือนฝ้าแดด กระ และจุดด่างดำฝังลึกจากภายในสู่ภายนอกได้ด้วย
การใช้สมุนไพรรักษาฝ้าแดด
การรักษาฝ้าแดดด้วยสมุนไพร เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถใช้ได้ ในกรณีเป็นฝ้าในระดับที่ไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่สมุนไพรที่นิยมใช้ อาทิเช่น
- ว่านหางจระเข้ โดยการนำว่านหางจระเข้ใบใหญ่ ไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที จากนั้นให้ปอกเปลือกออกแล้วล้างให้สะอาด นำไปปั่นหรือบดจนละเอียด แช่ตู้เย็นไว้สักครู่ แล้วนำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที แล้วล้างน้ำออกให้สะอาด
- ใบบัวบก วิธีการทำ ให้นำใบบัวบกมาปั่น แล้วใช้น้ำใบบัวบกมาเช็ดหน้าแทนโทนเนอร์ก่อนนอนทุกวัน ซึ่งจากการวิจัยพบว่าในใบบัวบกมีสรรพคุณที่ช่วยในการรักษาอาการของโรคผิวหนังได้
- มะขามเปียก ให้นำมะขามเปียกมาผสมกับน้ำสะอาด คั้นจนเนื้อมะขามหลุดออกมา จากนั้นให้นำมาพอกหรือทาบางๆในบริเวณที่เป็นฝ้า ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที แล้วล้างออก ในมะขามเปียกมีกรด AHA ธรรมชาติ ที่จะช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดออกมา ช่วยให้ฝ้าแดด รอยด่างดำดูจางลงได้
วิธีรับมือกับ ฝ้าแดด
- หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดเป็นเวลานาน
โดยเฉพาะในช่วง 00-16.00 น. เพราะเป็นช่วงที่แดดร้อนจัด ถ้าหากจำเป็นให้สวมหมวก กางร่ม สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด เป็นต้น นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงความร้อนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแสงจากคอมพิวเตอร์ มือถือ เตาไฟจากการประกอบอาหาร หรือการอบซาวน่าบ่อยๆ เพราะจะไปกระตุ้นให้ฝ้าแดดมีความเข้มขึ้นได้ - ทาครีมกันแดด
ไม่ว่าจะต้องออกแดดหรืออยู่ในที่ร่ม ให้ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF30+ ที่มีค่าป้องกัน PA++ ขึ้นไป เพื่อป้องกันทั้งรังสี UVAและ UVB หากต้องเผชิญกับแดดหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ให้ทาก่อนออกแดดประมาณ 30 นาทีและให้ทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพในการปกป้องที่ดีขึ้น - เลือกผลิตภัณฑ์ในการดูแลผิวหน้าที่มีคุณภาพและเหมาะกับสภาพผิว
ปัจจุบันได้มีการคิดค้นผลิตภัณฑ์มากมายที่ช่วยจัดการตั้งแต่ต้นตอของการเกิดฝ้า อย่างผลิตภัณฑ์ cosmelan จาก mesoestetic ที่สามารถยับยั้งวงจรการเกิดฝ้าทั้ง 3 กลไก ทั้งยับยั้งการสร้างเม็ดสีที่เซลล์เมลาโนไซต์ (โรงงานผลิตเม็ดสี) ,ยับยั้งการขนส่งเม็ดสีจาก ด้านล่างสู่ผิวด้านบน และลดการสะสมเม็ดสีในชั้นผิว โดยการขจัดเม็ดสีบนผิวออกไป หรือที่เรียกว่าการผลัดเซลล์ผิวนั่นเอง สามารถลดเลือนฝ้า กระ จุดด่างดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการเกิดรอยดำขึ้นใหม่ นอกจากนั้นยังป้องกันการกลับมาเกิดรอยดำซ้ำได้อีกด้วย - รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และทำให้ผิวแข็งแรง เช่น อาหารที่มีวิตามินซี วิตามินอี และวิตามินเอ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในผักและผลไม้ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิว
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำหอมและแอลกอฮอลล์ เนื่องจากส่วนผสมดังกล่าวทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง รวมถึงหลีกเลี่ยงความเครียด
“ฝ้าแดด” ถึงแม้จะมีที่มาโดยตรงจากการได้รับแสงอัลตร้าไวโอเลตและแสงจากแหล่งกำเนิดไฟต่างๆมากจนเกินไป แล้วไปกระตุ้นให้กระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินทำงานมากขึ้นจนเกิดเป็นรอยฝ้าขึ้นมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆที่มากระตุ้นทำให้ฝ้าแดดขยายวงกว้างออกไป ไม่ว่าจะเป็นระบบฮอร์โมนในร่างกาย การรับประทานยาบางชนิด การใช้เครื่องสำอางไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน รวมถึงกรรมพันธุ์และอายุ แต่เราสามารถป้องกันการเกิดฝ้าแดดได้ในหลายๆวิธีการ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง รวมถึงการเลือกใช้สกินแคร์ที่สามารถฟื้นฟู บำรุงและรักษาฝ้าแดดได้อย่างตรงจุด เพื่อเสริมสร้างอย่างสอดคล้องกับกระบวนการรักษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแท้จริง