สิวอุดตัน ต้นตอเล็ก ๆ ของปัญหาผิวหน้า

“สิวอุดตัน” ปัญหาเล็ก ๆ ที่สามารถสร้างความเสียหายต่อสภาพผิวหน้าของคุณได้อย่างง่ายดายหากไม่ได้รับการรักษาอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เพียงทำให้ผิวหน้าขรุขระไม่เรียบเท่านั้นแต่ยังสามารถทิ้งจุดด่างดำ รอยสิวหรือแม้แต่หลุมสิวขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ มิหนำซ้ำยังสามารถทำลายความมั่นใจให้กับหลายๆคนได้อีกด้วย สิวอุดตันมาจากไหน เมื่อเป็นแล้วมีวิธีในการรักษาที่ถูกต้องอย่างไร  วันนี้เรามาไขข้อข้องใจนี้ด้วยกัน

สิวอุดตันคืออะไร

สิวอุดตันหรือที่เรียกชื่อทางการแพทย์ว่า Comedones เป็นเม็ดสิวขนาดเล็กที่ฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังโดยที่ไม่เกิดอาการอักเสบใดๆ เป็นสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน มักมีตุ่มนูนเล็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดที่บริเวณหน้าผากหรือคาง

ประเภทของสิวอุดตัน

เราสามารถแบ่งประเภทของสิวอุดตันตามลักษณะการมองเห็นได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

  • สิวอุดตันที่สามารถมองเห็นได้

สิวอุดตันประเภทนี้สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ

  • สิวอุดตันหัวเปิด (Open Comedone) หรือที่เรียกกันว่า สิวหัวดำหรือสิวหัวเปิด ซึ่งสามารถมองเห็นหรือสังเกตได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนเล็กน้อย มีจุดสีดำอยู่ตรงกลางหัวสิว เกิดจากการอุดตันของเส้นขน เนื้อเยื่อและไขมันที่อยู่ภายในรูขุมขน โดยเม็ดสีที่เซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลานิน(Melanin) จะไปทำปฏิกิริยากับสารที่อุดตันแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อสารที่ว่านั้นโผล่พ้นขึ้นมาเหนือผิวและสัมผัสกับออกซิเจน หากรักษาไม่ถูกวิธีมีโอกาสพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบหรือหลุมสิวได้
  • สิวอุดตันหัวปิด (Close Comedone) นิยมเรียกสิวอุดตันประเภทนี้ว่า สิวอุดตันไม่มีหัวหรือสิวหัวขาว ซึ่งมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆสีขาวหรือสีใกล้เคียงกับสีผิวของแต่ละคน นูนขึ้นมาจากผิวหนังเพียงเล็กน้อย สิวอุดตันลักษณะนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ไปอุดตันอยู่ภายในรูขุมขน แต่ไม่ได้โผล่ขึ้นมาสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ จึงยังมองเห็นเป็นสีขาวอุดตันอยู่ในผิวหนัง

  • สิวอุดตันที่ไม่สามารถมองเห็นได้

สิวอุดตันที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทางการแพทย์เรียกว่า Microcomedone  เป็นสิวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen)ถูกกระตุ้น ทำให้เกิดการหลั่งไขมันออกมามากกว่าปกติ มักเกิดในช่วงวัยรุ่น มักจะหายไปได้เอง แต่ในบางกรณีอาจมีการอักเสบร่วมด้วย ต้องได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้กลายเป็นสิวประเภทอื่นตามมา

ที่มาและสาเหตุของสิวอุดตัน

โดยปกติเซลล์ผิวหนังกำพร้าชั้นบนที่เรียกว่า Keratinocytes จะต้องมีการผลัดเซลล์และหลุดออกไปจากรูขุมขน แต่ความผิดปกติในส่วนนี้คือมีการเพิ่มจำนวนเซลล์ผิวหนังที่มากเกินไปและมีการผลัดเซลล์ผิวที่ช้ากว่าปกติ ทำให้เกิดการจับตัวกันแล้วไปอุดตันรูขุมขนเอาไว้ หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือเกิดการอุดตันของเซลล์เยื่อบุผิวหนังที่ตายแล้ว ในขณะที่ภายในรูขุมขนจะมีน้ำมันที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมไขมันที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) และพวกเคราติน แต่ไม่มีทางที่จะออกมาได้  เมื่อไปรวมตัวกับแบคทีเรียประจำถิ่นที่เรียกว่าแบคทีเรีย C.acnes ซึ่งอาศัยอยู่ตามผิวหนัง รูขุมขน และต่อมไขมัน และสิ่งสกปรกอื่นๆที่ค้างอยู่ในรูขุมขนไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เครื่องสำอาง หรือเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ก็จะกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันในลักษณะต่าง ๆ ขึ้น รวมถึงโรคผิวหนังอักเสบอื่น ๆ ด้วย นอกจากนั้นแล้วการเกิดสิวอุดตันยังมีปัจจัยอื่นๆที่มากระตุ้นดังต่อไปนี้

  • ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ทำงานหนักมากจนเกินไป จนทำให้กลายเป็นฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน ซึ่งแรงกว่าและส่งผลกระทบต่อผิวหนังได้มากกว่า
  • ปริมาณของกรดไขมันไลโนเลอิค(linoleic Acid)ที่ถูกผลิตจากต่อมไขมันลดลง ส่งผลให้ระบบการปกป้องผิวชั้นในลดต่ำลง
  • ผิวมีการสัมผัสกับพวกสารเคมีต่างๆที่มีส่วนประกอบของน้ำมัน เช่นในเครื่องสำอาง แชมพู รวมถึงครีมหรือเจลต่างๆล้วนส่งผลต่อการเกิดสิวอุดตันได้ทั้งสิ้น
  • ในช่วงก่อนมีรอบเดือน ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวอุดตันขึ้นได้เช่นกัน
  • มีการกระตุ้นให้ผิวหน้าเกิดการระคายเคือง เช่นการบีบสิว การขัดผิวหน้า การทำเลเซอร์ รวมถึงการลอกหน้าผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีบ่อยๆ
  • การสูบบุหรี่ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เพิ่มโอกาสในการเป็นสิวอุดตันได้ง่ายขึ้น
  • การรับประทานอาหารก็ส่งผลต่อการเกิดสิวอุดตันได้ โดยเฉพาะอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล หรือไขมัน
  • มลภาวะต่างๆทั้งฝุ่นละอองหรือควัน ล้วนแต่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และเกิดสิวอุดตันได้ง่าย
  • พฤติกรรมการล้างหน้าบ่อยจนเกินไป รวมถึงการล้างหน้าไม่สะอาด ทำให้มีสิ่งสกปรกตกค้างอยู่บนผิวหนังและเกิดการอุดตันได้ง่าย
  • ลักษณะการสวมใส่เสื้อผ้าที่หนามากเกินไป การใส่หมวก ผ้าโพกหัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดเหงื่อไคลและสิ่งสกปรกหมักหมม
  • กรรมพันธุ์

การวินิจฉัยเกี่ยวกับสิวอุดตัน

ในกรณีที่สิวอุดตันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะลุกลามกลายเป็นสิวในลักษณะอื่นต่อไป ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อจะได้มั่นใจในการตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งในขั้นตอนการวินิจฉัยของแพทย์จะมีการซักประวัติเกี่ยวกับการรักษา ช่วงเวลาของการมีประจำเดือนในผู้ป่วยที่เป็นผู้หญิง เนื่องจากสิวอุดตันมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนในร่างกายด้วย ซึ่งลักษณะสิวอุดตันที่แพทย์มักจะวินิจฉัยมักมีระดับความรุนแรงดังต่อไปนี้

  • สิวอุดตันน้อยกว่า 20 จุด นับเป็นสิวอุดตันที่มีระดับไม่รุนแรง
  • สิวอุดตัน 20-100 จุด นับเป็นสิวอุดตันระดับปานกลาง
  • สิวอุดตันมากกว่า 100 จุด นับเป็นสิวอุดตันระดับรุนแรง

แนวทางการรักษาสิวอุดตัน

1. การรักษาด้วยยา

ในการรักษาสิวอุดตัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ ถ้าไม่ได้มีความรุนแรงมาก สามารถที่จะรักษาเองได้เบื้องต้นโดยการซื้อยามาทาน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากเภสัชกรและซื้อจากร้านขายยาที่มีใบรับรองอย่างถูกต้อง ตัวอย่างยาที่สามารถทำมาใช้รักษาสิวอุดตันในระดับไม่รุนแรง เช่น

  • เบนซิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
  • กรดซาลิไซลิค (Salicylic Acid)
  • กรดอะซีลาอิค (Azelaic Acid)
  • กรดไกลโคลิค (Glycolic Acid)
  • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide
  • พีเอชเอ (PHA)

มีข้อควรสังเกตและควรระวังในการใช้ยาเหล่านี้ในการรักษาสิวอุดตัน คือตัวยามักจะช่วยกระตุ้นการผลัดเซลล์ผิว ทำให้หัวสิวเปิดและหลุดออกมาได้ง่ายมากขึ้น แต่มักจะทำให้ผิวไวต่อแสงและส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมของกรดอาจจะทำให้ผิวเกิดอาการระคายเคือง ผิวลอก หรือเป็นจุดดำในบริเวณที่ทาได้ จึงแนะนำให้ทาครีมที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวควบคู่ด้วย แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาสิวอุดตันได้อย่างตรงจุดต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะมีแนวทางในการใช้ยาเพื่อรักษาดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาที่มีส่วนประกอบของเรตินอยด์ (Retinoids) รักษาเฉพาะจุดที่เกิดสิว
  • ใช้ยาปฏิชีวนะ สามารถรักษาสิวอุดตันในบางกรณี
  • ใช้ยาปรับฮอร์โมน โดยทั่วไปแพทย์จะให้รับประทานยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เพื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยให้สิวอุดตันลดลงได้

 2. การบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ

นอกจากการใช้ยาแล้ว ยังมีการใช้เทคโนโลยีทางด้านความงามและการบำบัดด้วยวิธีอื่นๆร่วมด้วย ดังนี้

  • การบำบัดรักษาโดยใช้ความเย็นหรือที่เรียกว่า Cryotherapy ในวิธีการนี้แพทย์จะใช้เครื่องพ่นไนโตรเจนเหลวหรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอุณหภูมิต่ำไปยังจุดของผิวหนังที่ต้องการรักษาในระยะเวลาสั้นๆเพื่อทำให้สิวอุดตันแห้งลงและจะหลุดออกมาเมื่อล้างหน้า
  • การจี้ด้วยไฟฟ้า (Electrosurgery) วิธีการนี้แพทย์จะใช้เครื่องมือจี้ไฟฟ้าไปบนบริเวณผิวหนังที่ต้องการ โดยพลังงานความร้อนจะช่วยกำจัดสิวที่อุดตันอยู่ให้หมดไป
  • การกรอผิว (Microdermabrasion) เป็นอีกหนึ่งวิธีที่นิยมใช้ โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่ประกอบด้วยผลึกคริสตัลขนาดเล็กกรอบริเวณที่เป็นสิว ทำให้สิวอุดตันหลุดออกมา พร้อมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณนั้นเจริญขึ้นมาใหม่ได้อีกด้วย
  • การกดสิว ถึงแม้ว่าการกดสิวจะช่วยให้หัวสิวหลุดออกมาจากชั้นผิวหนังได้เร็วขึ้น แต่ควรทำกับแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะถ้ากดสิวไม่ถูกวิธีหรือกดออกไม่หมด อาจทำให้เกิดเป็นสิวอักเสบ ทิ้งรอยแดงรอยดำและรอยแผลเป็นที่ยากต่อการรักษาเอาไว้ได้
  • การเลเซอร์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการรักษาสิวอุดตันที่ได้ผลเร็ว แต่มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงและเพื่อผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่มาพร้อมกับความปลอดภัย ควรทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น

ในการบำบัดรักษาลักษณะนี้โดยส่วนใหญ่จะต้องทำหลายครั้งหรือที่เรียกว่าทำเป็นคอร์ส จนกว่าอาการจะค่อย ๆดีขึ้น โดยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิวอุดตัน โดยมากจะรักษาควบคู่กับการใช้ยา

3. การรักษาด้วยสมุนไพรธรรมชาติ

การรักษาด้วยสมุนไพรธรรมชาติ มักใช้ได้ผลในกลุ่มอาการที่ไม่รุนแรง โดยจะช่วยในการกำจัดสิวที่อุดตัน กำจัดเชื้อแบคทีเรีย ลดความมันบนใบหน้าโดยไม่ทำให้เกิดการอุดตัน มีสูตรมาสก์ที่ช่วยบรรเทาอาการสิวอุดตันหลายสูตรเช่น

  • สูตรไข่ขาว มะนาว นำมาผสมกันพอกทิ้งไว้ 15-20 นาทีแล้วล้างออก
  • สูตรมะขามเปียกนมสด นำมาผสมกันจนข้นแล้วพอกหน้าทิ้งไว้ 10-15 นาที
  • สูตรโยเกิร์ต ทาทิ้งไว้ทั่วหน้า 15-20 นาทีแล้วล้างออก

การปฏิบัติตัวขณะรักษาสิวอุดตัน

ในระหว่างการรักษาสิวอุดตัน มีแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องร่วมด้วยเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

  • เลี่ยงการสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นสิวอุดตัน ที่สำคัญอย่าแกะ บีบหรือเกา เพราะอาจจะทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายไปยังพื้นผิวบริเวณอื่น ส่วนการแกะหรือบีบสิว อาจทำให้เกิดการระคายเคือง ทิ้งรอยด่างดำและเกิดแผลเป็นในเวลาต่อมาได้
  • ล้างหน้าให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะกับสภาพผิวด้วยน้ำสะอาดวันละ 2 ครั้ง
  • เลือกใช้เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน มีการรับรองขององค์การอาหารและยา (อย.) ไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันและไม่ทำให้เกิดการอุดตัน
  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิวอุดตัน

การป้องกันสิวอุดตัน

“กันไว้ดีกว่าแก้”เป็นแนวทางที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้คุณไม่ต้องทนทุกข์กับสิวอุดตันที่เกิดขึ้นทั่วใบหน้า สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสภาพผิวหน้า ดังต่อไปนี้

  • รักษาความสะอาดบนใบหน้า ด้วยการล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม ไม่เป็นด่างเกินไป เพื่อช่วยลดความมัน กำจัดสิ่งสกปรก หลีกเลี่ยงการล้างหน้าบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน(Non-comedogenic)และช่วยควบคุมความมันบนใบหน้าที่ได้คุณภาพและมีการรับรองอย่างถูกต้อง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าบ่อยๆ เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดสิวเพิ่มขึ้น ไม่บีบสิว เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเกิดรอยแผลเป็น
  • เนื่องจากแชมพูและครีมนวดบางชนิดมีส่วนผสมที่สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้ ให้เลือกใช้ชนิดที่อ่อนโยน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนและช่วยให้การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆที่อาจทำให้ผิวหนังอับชื้นหรือเกิดการเสียดสีที่มากเกินไปบริเวณผิวหนัง เช่นสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หรือใส่หมวก รวมถึงการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาก็มีส่วนทำให้เกิดสิวอุดตันได้เช่นกัน
  • เมื่อมีสิวอุดตันที่รักษาด้วยยาทาสิวด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อขอคำแนะนำและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

สิวอุดตัน ปัญหาเล็ก ๆ ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ลุกลามจนกลายเป็นสิวอักเสบเรื้อรังหรือหลุมสิว หลุมพระจันทร์ได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้นเมื่อเกิดสิวอุดตันควรหาโอกาสไปปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องและรับการรักษาที่ได้ผลลัพธ์ตรงจุด ที่สำคัญไม่ทิ้งรอยแผลเป็น ไม่ทิ้งรอยด่างดำให้ต้องมานั่งกลุ้มใจกันอีกด้วย

ใส่ความเห็น