รู้ทันต้นตอสิวฮอร์โมน พร้อมวิธีรักษาให้หน้ากลับมาใสได้อีกครั้ง

“สิวฮอร์โมน” (Hormonal Acne) เป็นสิวที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย มักเกิดขึ้นในบริเวณเดิมซ้ำๆ สิวฮอร์โมนไม่เพียงสร้างปัญหาให้กับคนในช่วงวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในทุกช่วงวัยที่มีการผันผวนของฮอร์โมน ไม่เว้นแม้แต่วัยผู้ใหญ่ ทั้งในช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือในวัยที่หมดประจำเดือนแล้วก็ตาม แท้จริงแล้วสิวฮอร์โมนคืออะไร มีปัจจัยไหนบ้างที่กระตุ้นให้เกิดสิวฮอร์โมน แล้วสิวประเภทนี้ต่างจากสิวธรรมดาทั่วไปอย่างไร เราจะมาทำความเข้าใจ เพื่อหาแนวทางป้องกันและรักษาได้อย่างตรงจุดต่อไป

สิวฮอร์โมนคืออะไร

“สิวฮอร์โมน” เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ที่ไปกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมัน ทำให้เกิดน้ำมันส่วนเกินบนผิวหนังเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนได้ง่ายขึ้น พบมากในกลุ่มหนุ่มสาวที่ย่างเข้าสู่วัยรุ่นและวัยอื่นๆที่มีความผิดปกติของฮอร์โมน

สิวและฮอร์โมนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร

สิวและระบบฮอร์โมนในร่างกาย มีความสัมพันธ์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ฮอร์โมนที่มีความเด่นชัดที่ก่อให้เกิดสิวมักเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับเพศและการเจริญวัย ดังต่อไปนี้

  • ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ “ฮอร์โมนเพศชาย” เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ผู้ชายที่เข้าสู่วัยรุ่นมีสรีระ รูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้นฮอร์โมนชนิดนี้ยังไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ผลิตน้ำมันส่วนเกินขึ้นมามากขึ้น จนทำให้เกิดสิว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงวัยรุ่นจะมีสิวขึ้นมามากกว่าปกติ นั่นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจนนั่นเอง
  • ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) เป็นฮอร์โมนที่มีทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ฮอร์โมนชนิดนี้จะผลิตออกมามากกว่าปกติ ในเพศชาย ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) จะมีผลต่อระบบอวัยวะเจริญพันธุ์ ส่วนในเพศหญิงจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและร่างกายให้มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ก็เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวได้เช่นกัน เนื่องจากจะกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ส่งผลให้วัยรุ่นมีหน้ามันเป็นพิเศษ สามารถเกิดสิวได้ง่าย
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจะมีมากในช่วงที่มีประจำเดือน แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นจนถึงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดระดับลง ซึ่งการผันผวนของเอสโตรเจน ไม่ว่าจะมากขึ้นหรือน้อยลงก็ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับความเครียด ซึ่งจะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนชนิดอื่นๆตามออกมาด้วยและจะไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ทำให้หน้ามันและเกิดสิวตามมา
  • โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นอีกหนึ่งของฮอร์โมนเพศหญิง มักมีปริมาณสูงในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากยิ่งขึ้นเช่นกัน ทำให้ช่วงก่อนมีประจำเดือนและระหว่างมีประจำเดือน ทำให้มีสิวฮอร์โมนเกิดขึ้นมาได้
  • ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) โดยปกติ “คอร์ติซอล” (Cortisol) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่าและสดชื่น ซึ่งในช่วงเช้าระดับของฮอร์โมนชนิดนี้จะสูงและจะลดลงเรื่อยๆ ในช่วงกลางคืนจะต่ำมากเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน แต่ถ้าหากมีความเครียดหรือนอนไม่หลับ ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลจะสูงขึ้นและจะไปกระตุ้นการผลิตน้ำมันที่มากขึ้น นำไปสู่การอุดตันของรูขุม ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการอักเสบและเป็นสิวในเวลาต่อมาได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังอาจก่อให้เกิดการอักเสบของผิวและเกิดภาวะผิวแดงคันได้อีกด้วย 
  • ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ไม่ได้เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวโดยตรง แต่สามารถทำให้เกิดสิวทางอ้อมได้ โดยจะเป็นตัวที่ไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศชายอย่างแอนโดรเจนอีกที กล่าวคือ ถ้าหากว่าในเลือดมีปริมาณน้ำตาลที่สูงมากจนเกินไป ซึ่งเป็นไปได้ว่ามาจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ร่างกายก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และถ้าหากว่าอินซูลินมีการหลั่งออกมามากจนเกินไปก็จะมีผลทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนออกมามากด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้มีการผลิตน้ำมันที่มากขึ้นและก่อให้เกิดสิวได้ไม่ยาก

ปัญหาผิวที่เกิดจากฮอร์โมน

เนื่องจากมีฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกายของคนเราที่ไปกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมัน และนำไปสู่การเกิดสิวในที่สุด นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาผิวอื่นๆที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของฮอร์โมนยังสามารถเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้

  • การอักเสบของผิวหนังและการขยายใหญ่ของต่อมไขมัน
    ปัญหานี้สามารถส่งผลกระทบต่อผิวในระยะยาวได้ เช่น ทำให้เกิดรอยดำจากสิว รอยแผลเป็นจากสิว หลุมลึกจากสิว อาการบวมแดงจากสิว รวมถึงผิวหนังอักเสบจนทำให้เกิดอาการปวด บวม เป็นต้น
  • รูขุมขนบนใบหน้ากว้างขึ้น
    รูขุมขนกว้าง เป็นลักษณะอาการที่รูขุมขนบนใบหน้ามีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ เกิดจากต่อมผลิตไขมันใต้ผิวหนังขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติหรือเกิดจากโครงสร้างของการเกิดเส้นขนใต้ผิวหนังผิดปกติ
  • รูขุมขนถูกอุดตันและกระตุ้นการเกิดสิว
    การผลิตซีบัม (Sebum) หรือน้ำมันบนผิว ถูกควบคุมโดยฮอร์โมนแอนโดรเจน และฮอร์โมนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และถ้ามีปริมาณฮอร์โมนเหล่านี้มาก ผิวของคนเราก็จะผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นด้วย และเป็นไปได้ว่าน้ำมันส่วนเกินและเซลล์ต่างๆที่ตายแล้วจะไปอุดตันรูขุมขน ทำให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์มากขึ้นของแบคทีเรียประจำถิ่นอย่าง acneซึ่งจะกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในผิวหนัง ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเกิดรอยแดงขึ้นได้

สิวฮอร์โมนกับหลายช่วงชีวิต

  • สิวฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น
    สิวที่เกิดในช่วงวัยรุ่น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับชายและหญิง โดยระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะมีระดับที่สูงขึ้น สำหรับผู้ชายฮอร์โมนชนิดดังกล่าวจะส่งผลต่อการพัฒนาลักษณะทางร่างกายภายนอก เช่น ขนตามร่างกาย หนวดเคราบนใบหน้า กล้ามเนื้อและมวลกระดูก สำหรับผู้หญิงซึ่งมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ต่ำกว่า จะกระตุ้นการเกิดขนบริเวณอวัยวะเพศและขนใต้รักแร้ นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อและมวลกระดูกอีกด้วย และที่สำคัญฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำมันในรูขุมขนมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเกิดสิวฮอร์โมน
  • สิวฮอร์โมนในวัยมีประจำเดือน
    จากการศึกษาพบว่า “การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างรอบประจำเดือนมีบทบาทสำคัญในการเกิดสิวกว่า 85% ของผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ มีปัญหาเกี่ยวกับสิวมากขึ้น ในช่วงก่อนมีประจำเดือน”ซึ่งนั่นเป็นเพราะว่าก่อนมีประจำเดือนผิวของผู้หญิงเราจะผลิตซีบัม (sebum) หรือน้ำมันบนผิวมากขึ้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความสมดุลของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน ดังนี้

    • ในหนึ่งสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลง ทำให้รูขุมขนเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้เชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าไปในร่างกายได้ ซึ่งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่จะเกิดสิวประจำเดือนขึ้นได้
    • ในช่วงครึ่งแรกของการมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในร่างกายจะเพิ่มมากขึ้นกว่าฮอร์โมนชนิดอื่นๆ
    • ในช่วงกลางๆของการมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ในขณะที่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะเริ่มมีระดับที่สูงขึ้น ทำให้ผิวเกิดอาการบวม และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน และการผลิตน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้นในขณะที่ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง อาจทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตันรูขุมขนได้เช่นกัน
    • ส่วนระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) จะค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลาที่มีประจำเดือน ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดสิวฮอร์โมน เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันนั่นเอง
  • สิวฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์
    ช่วงที่มีการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนสูง โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจจะมีสิวฮอร์โมนเกิดขึ้นมาค่อนข้างมากและรุนแรง แต่อย่างไรก็ตามผิวจะค่อยๆปรับสภาพให้ดีขึ้น
  • สิวฮอร์โมนในวัยก่อนหมดและวัยหมดประจำเดือน
    ในวัยก่อนหมดประจำเดือนและวัยหมดประจำเดือน เป็นช่วงเวลาที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเริ่มลดลง ซึ่งนักวิจัยได้สังเกตว่าผู้หญิงที่ประสบปัญหาสิวในช่วงระหว่างวัยหมดประจำเดือนมักมีฮอร์โมนแอนโดรเจนในระดับปกติแต่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอัตราส่วนของปริมาณฮอร์โมนที่เกิดขึ้นอาจกระตุ้นการผลิตซีบัมหรือน้ำมันบนผิวและก่อให้เกิดสิวขึ้นได้


ลักษณะของสิวฮอร์โมน

สิวฮอร์โมนสามารถเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ สามารถสังเกตได้จากช่วงที่เกิดสิวคือจะมาเป็นรอบ ทั้งก่อนและหลังประจำเดือน และมักเกิดขึ้นซ้ำในบริเวณเดิมหรือจุดเดิม หรือจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีสิ่งเร้าหรือกระตุ้น เช่นช่วงที่มีความเครียดสูง มีความเครียดสะสมมาเป็นเวลานาน หรือใช้ยาคุมกำเนิด อาจจะทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนไม่สมดุลในร่างกายจนทำให้เกิดสิวขึ้นได้  ซึ่งโดยลักษณะสิวฮอร์โมนแต่ละประเภท มีดังนี้

  • สิวอุดตัน(Comedones) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
    • สิวอุดตันหัวเปิด(Open Comedone) หรือ สิวหัวดำ (Blackheads)
      สิวลักษณะนี้ เป็นสิวอุดตันที่มีขนาดเล็ก บริเวณตรงกลางมีการฝังตัวของเคราติน(Keratin)ซึ่งเป็นเส้นใยโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นมาและลิพิด(Lipid) ที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น(Oxidation)กับออกซิเจนหรืออากาศภายนอก ทำให้เปลี่ยนจากสีขาวเหลืองกลายเป็นสีที่เข้มขึ้นหรือสีดำนั่นเอง
    • สิวอุดตันหัวปิด (Closed Comedone) หรือ สิวหัวขาว (Whiteheads)
      เป็นสิวอุดตันขนาดเล็ก ที่นูนออกมาจากผิวหนังเล็กน้อย บริเวณหัวสิวมีสีขาว มองเห็นจากภายนอกได้ยาก
  • สิวอักเสบ (Inflammatory acne) ที่เกิดขึ้นเป็นสิวฮอร์โมน มีดังต่อไปนี้
    • สิวตุ่มนูนแดง (Papule)
      สิวตุ่มนูนแดง (Papule) มีลักษณะเป็นสิวที่มีสีแดง ทรงกลม ขนาดเล็กไม่เกิน 5 เซนติเมตร รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส แต่ไม่มีหนองอยู่ภายใน
    • สิวหัวหนอง (Pustule)
      สิวหัวหนอง (Pustule) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดง ตรงกลางมีหนองสีขาวเหลืองอยู่ข้างใน ให้ความรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส
    • สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ (Nodule)
      สิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ (Nodule) เป็นสิวที่มีการอักเสบในระดับที่รุนแรง ทำให้รู้สึกเจ็บ มีลักษณะเป็นสิวที่มีขนาดใหญ่ แข็งเป็นก้อน ไม่มีหัวสิวอยู่ข้างใน ไม่มีหนอง เป็นสิวที่อยู่ในระดับชั้นผิวหนังที่ค่อนข้างลึก

 สาเหตุของสิวฮอร์โมน

สาเหตุของการเกิดสิวฮอร์โมน สามารถแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ คือสาเหตุหลักจากระบบฮอร์โมนภายในร่างกายและปัจจัยเสริมต่างๆที่มากระตุ้นทำให้เกิดสิว

สาเหตุจากปัจจัยภายใน

  • การเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมน
    ปัจจัยภายในที่ทำให้เกิดสิวฮอร์โมน ก็คือระบบฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมีฮอร์โมนทั้งเพศชายและเพศหญิงอยู่ในร่างกาย ถ้าในกรณีที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน(Testosterone)สูงเกินไป จะกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมัน ทำให้อุดตันได้ง่าย หรือถ้าในช่วงที่มีประจำเดือน จะมีฮอร์โมนที่ชื่อโปรเจสเตอโรน(Progesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมากขึ้น ก็จะส่งผลให้รูขุมขนกว้าง เนื่องจากช่วงนั้นตัวจะบวมขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสทำให้รูขุมขนเกิดการอุดตันได้มากขึ้นด้วยจนกลายเป็นสิวฮอร์โมนนั่นเอง
  • พันธุกรรม
    สิวสามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ เนื่องจากหากมีญาติหรือคนในครอบครัวที่เป็นสิวมากหรือเป็นสิวได้ง่าย สมาชิกในครอบครัวก็มีแนวโน้มที่จะเป็นสิวฮอร์โมนได้เช่นกัน

สาเหตุจากปัจจัยกระตุ้นภายนอก

  • ความเครียด
    ความเครียดหรือภาวะวิตกกังวลสะสม ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนและการทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย เช่นทำให้นอนไม่หลับ ระบบขับถ่ายไม่เป็นปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณของสิวฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้นด้วย
  • สภาวะแวดล้อม
    ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น ควัน มลพิษในอากาศ ล้วนเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดสิวฮอร์โมนได้ทั้งสิ้น
  • ปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ
    นอกจากปัจจัยข้างต้น ที่กระตุ้นให้เกิดสิวแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง
  • พฤติกรรมการดูแลรักษาความสะอาดผิวหน้า เช่นการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ทำให้ผิวหน้ามันสะสม และมีสิ่งสกปรกอุดตันรูขุมขน

บริเวณที่มักเกิดสิวฮอร์โมน

ถึงแม้ว่าสิวฮอร์โมนจะเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดจะมาในรูปแบบของสิวอักเสบ ที่เมื่อสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ ปวด คันหรือมีอาการระคายเคือง สิวฮอร์โมนเกิดขึ้นได้ในหลายจุดในใบหน้า ทั้งที่หน้าผาก แก้ม คาง นอกจากนั้นยังพบที่หลัง และเป็นสิวในลักษณะนูนบวมบนหนังศีรษะอีกด้วย โดยบริเวณที่เกิดสิวฮอร์โมนจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ ดังนี้

  • วัยรุ่น
    เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายให้กระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันมากขึ้น ทำให้ผิวเกิดการอุดตัน และพบว่า 70% มีแนวโน้มที่จะเกิดสิวฮอร์โมน ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณทีโซน(T-Zone) ได้แก่ บริเวณหน้าผาก จมูก และคาง
  • อายุมากกว่า 25 ปี
    ปัญหาสิวของคนวัยนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นสิวที่มีมากตั้งแต่ช่วงที่เป็นวัยรุ่น ต่อเนื่องไปจนถึงวัยที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ทั่วไปแล้วสิวฮอร์โมนในผู้ใหญ่มักไม่หายขาด อาจจะเป็นต่อเนื่องจนถึง 30-50 ปี โดย 75-85% มักเกิดกับผู้หญิง[3] ผู้ชายจะมีระดับของฮอร์โมนที่คงที่มากกว่า ในขณะที่ฮอร์โมนในเพศหญิงจะมีความผันผวน เนื่องจากปัจจัยด้านการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์และการหมดประจำเดือน โดยมักเป็นสิวบริเวณแก้ม รอบปาก คาง และแนวกราม

ข้อแตกต่างระหว่างสิวทั่วไปกับสิวฮอร์โมน

เนื่องจากสิวฮอร์โมนมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสิวทั่วๆไป แต่มักจะเกิดในระยะเวลาเดิมๆซ้ำๆเป็นประจำ เช่น สิวประจำเดือน มักขึ้นก่อนหรือหลังเป็นประจำเดือน หรือในช่วงที่มีภาวะความเครียดสะสม ทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน ก็ทำให้เกิดสิวขึ้นได้ และแม้ว่าสิวทั้งสองประเภทนี้จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่สามารถแยกลักษณะที่แตกต่างกันได้ดังนี้

  สิวทั่วไป สิวฮอร์โมน
สาเหตุของสิว ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นทำให้เกิดสิว เช่นอาหาร ,ความมันส่วนเกิน,มลภาวะ รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับหน้าที่ไม่ได้มาตรฐาน มีสารอันตรายต้องห้ามเจือปน เป็นต้น เกิดจากระบบฮอร์โมนภายในที่ไม่สมดุล โดยมีปัจจัยอื่นๆที่เป็นตัวกระตุ้น เช่นความเครียด,การบริโภคอาหาร,การตั้งครรภ์,การเป็นประจำเดือน,พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือมีภาวะถุงน้ำในรังไข่ (PCOS) เป็นต้น
ลักษณะของสิว สามารถเกิดขึ้นได้ทุกจุด ทั้งใบหน้า ลำคอและลำตัว

 

มักเกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงเวลาเดิม เช่นในช่วงที่เป็นประจำเดือนของผู้หญิง หรือผู้ชายมักจะเกิดในช่วงที่เป็นวัยรุ่น โดยมักจะขึ้นบริเวณรอบริมฝีปาก คาง แนวสันกรามและลำคอ
วิธีการดูแลรักษา หมั่นทำความสะอาดผิวให้สะอาด เพื่อขจัดความมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกออกจากผิวหน้า รวมถึงการใช้สกินแคร์ที่เหมาะกับสภาพผิว พักผ่อนให้เพียงพอ เลี่ยงความเครียด เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ไม่หวานไม่มัน พร้อมทั้งใช้สกินแคร์ที่ช่วยลดสิวและให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวอย่างสม่ำเสมอ

 การรักษาสิวฮอร์โมน

การรักษาสิวฮอร์โมนสามารถทำได้ในหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรงของสิว และสภาพผิวของแต่ละท่าน ดังต่อไปนี้

การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยา

การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือการรักษาด้วยยาทาและการรักษาด้วยยาที่ใช้รับประทาน

  • การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยาทา
    สิวฮอร์โมนสามารถรักษาด้วยกลุ่มยา ดังต่อไปนี้

    • ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids)
      เป็นกลุ่มยาที่สามารถรักษาได้ทั้งสิวอุดตันและสิวที่มีอาการอักเสบ โดยมีตัวยาประเภทTretinoin, Adapalene, Tazarotene ซึ่งล้วนมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและลดการอุดตันของสิว แต่มีข้อควรระวังในการใช้คืออาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้ง และทำให้ผิวไวต่อแสงได้มากขึ้น แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ไม่ควรใช้เรตินอยด์เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์ได้
    • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
      เป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีการปล่อย Free Oxygen Radicals เพื่อดักจับส่วนต่างๆของเซลล์แบคทีเรีย พร้อมทั้งทำลายเชื้อแบคทีเรียลงได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยลดการอุดตันของสิว ไม่ทำให้เกิดอาการดื้อยา เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียไม่สามารถพัฒนาตนเองให้ทนทานต่อฤทธิ์ยาได้ ยาชนิดนี้มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโลชั่น เจล ครีม หรือโฟม มีระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันออกไป แต่มีข้อควรระวังในการใช้เพราะอาจจะทำให้ผิวหนังแห้งและเกิดการระคายเคืองได้
    • ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ (Antibiotics)
      โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ (Antibiotics) ที่นิยมใช้ในการทารักษาสิวฮอร์โมนมี 4 ตัวด้วยกัน ได้แก่ Erythromycin, Clindamycin, Metronidazole และ Dapsone ซึ่งยาErythromycin, Clindamycin และ Metronidazole ไม่นิยมนำมาทารักษาแบบเดี่ยวๆ แต่ควรใช้ร่วมกับยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการดื้อยา ส่วนยาDapsone เป็นตัวยาที่ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย และไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับ Benzoyl Peroxide เพราะอาจเกิดรอยสีส้มขึ้นบนผิวหนังได้
    • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid)
      เป็นกรดที่ได้จากสารกสัดตามธรรมชาติ ใช้เป็นยาต้านจุลชีพ(Antimicrobial) เพื่อช่วยลดการอุดตันของรูขุมขน ต้านการสร้างเม็ดสี (Tyrosinase inhibitor) และช่วยลดรอยดำหลังจากการรักษาสิวได้อีกด้วย แต่มีข้อควรระวังในการใช้คือ ควรใช้ในปริมาณที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าหากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนได้
    • ยารักษาสิวฮอร์โมนแบบรับประทาน
      การรับประทานยารักษาสิวฮอร์โมนแบบรับประทาน เป็นการรักษาสิวจากภายใน ใช้กรณีที่สิวฮอร์โมนมีระดับความรุนแรงมากหรือเป็นสิวเรื้อรัง โดยนิยมใช้ตัวยาดังต่อไปนี้
    • ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน (Antibiotics)
      ตัวยาที่มียาปฏิชีวนะแบบรับประทาน (Antibiotics) ได้แก่ Tetracycline, Doxycycline, Minocycline, Macrolides ฯลฯ แต่การใช้ยาประเภทนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดื้อยานั่นเอง
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy)
    เป็นวิธีที่ช่วยลดการสร้างฮอร์โมนเพศชายอย่างแอนโดรเจน(Androgen)และช่วยควบคุมให้ฮอร์โมนมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น โดยยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่

    • ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน(Oral Contraceptives) โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการสร้าง Luteinizing Hormone (LH),ลดปริมาณ Free Testosterone และขัดขวางการทำงานของ Androgen Receptor
    • ยากลุ่ม Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists (GnRH Agonists) มีฤทธิ์ในการทำลายวงจรการหลั่งฮอร์โมน Gonadotropin ที่มาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen) ส่งผลให้ปริมาณแอนโดรเจน (Androgen)ลดลง
    • การใช้ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) นิยมใชรักษากลุ่มสิวอักเสบที่มีความรุนแรงในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงมาก รวมถึงกลุ่มอาการดื้อยา ที่ไม่สามารถใช้ยาตัวอื่นรักษาได้ โดยตัวยาจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของต่อมไขมันที่ผลิตน้ำมันออกมามากจนเกินไป ลดการอักเสบ พร้อมทั้งช่วยผลัดเซลล์ผิวให้เข้าสู่สภาวะปกติมากยิ่งขึ้น

การรับประทานยาเพื่อคุมสิวฮอร์โมน สามารถลดสิวลงได้ 50-100% เนื่องจากสามารถช่วยลดความมันและลดโอกาสที่สิวอักเสบจะประทุได้เป็นอย่างดีหลังจากการรักษาแล้วประมาณ 3 เดือน

การรักษาสิวด้วยหัตถการทางการแพทย์
นอกจากการรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยาแล้ว ยังสามารถรักษาด้วยวิธีหัตถการทางการแพทย์ด้วยเช่นเดียวกัน โดยวิธีการรักษาสามารถทำได้โดย

  • การใช้สารเคมีลอกผิว (Chemical Peel)
    วิธีการคือใช้สารเคมีลอกผิวหนังชั้นนอกสุดออกมา เพื่อป้องกันการอุดตันในรูขุมขน ทั้งยังช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิว นิยมใช้รักษาสิวในกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาด้วยแบบอื่นได้ เช่นผู้ที่อยู่ในช่วงของการตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้
  • การทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง (Phototherapy and Laser)
    การรักษาประเภทนี้จะช่วยในเรื่องการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย acne ลดการอักเสบ ช่วยฆ่าเชื้อสิวได้เป็นอย่างดี เหมาะกับสิวเรื้อรัง ดื้อยา พร้อมทั้งลดความเสี่ยงที่จะเกิดรอยดำ หลุมสิวหรือรอยแผลเป็นจากสิวได้
  • เลเซอร์ลดต่อมไขมันให้เล็กลง
    หลักการทำงานคือเลเซอร์จะลงไปที่ใต้ผิว ช่วยลดขนาดของต่อมไขมันให้เล็กลง นอกจากนั้นยังช่วยฟื้นฟูผิวให้แข็งแรง เพราะเมื่อผิวแข็งแรงสุขภาพดีแล้วจะช่วยให้สิวอุดตัน และสิวฮอร์โมนลดลง ทั้งยังช่วยไม่ให้เกิดสิวใหม่ในอนาคตได้อีกด้วย
  • การฉีดสิว(Cortisone Injections)
    การฉีดสิวสามารถช่วยลดการอักเสบของสิวที่มีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ใต้ผิวหนังได้ ให้ผลการรักษาที่เร็ว แต่ควรทายาอื่นๆควบคู่กันไปด้วย
  • การกดสิวอุดตัน
    บริเวณที่มักกดสิวส่วนใหญ่จะอยู่ที่คาง สิวรอบปาก สิวที่กรอบหน้า เป็นต้น ในกรณีที่เป็นสิวฮอร์โมนแบบอักเสบร่วมกับสิวอุดตัน แพทย์มักพิจารณาให้ใช้การรักษาควบคู่กับ CO2 laser เพื่อเปิดหัวสิวอุดตันออกก่อน เพื่อให้การกดสิวทำได้ง่ายขึ้นและไม่ทำให้ผิวยิ่งอักเสบมากขึ้น

การรักษาด้วยสมุนไพร
มีวิธีรักษาสิวฮอร์โมนด้วยสมุนไพรแบบธรรมชาติ ที่สามารถทำได้เอง ดังต่อไปนี้

  • Tea Tree Oil ทาเฉพาะที่ ช่วยลดการอักเสบของสิว โดยจะต้องทดสอบกับผิวหนังในส่วนที่บอบบางก่อน เพื่อป้องกันการระคายเคืองที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น Tea Tree Oil ยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวซ้ำซาก
  • พอกหน้าด้วยว่านหางจระเข้ เพื่อปลอบประโลมผิวให้สดชื่นขึ้น กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ ลดการอักเสบ
  • มาส์กหน้าด้วยน้ำผึ้ง ช่วยลดการอักเสบและต้านเชื้อแบคทีเรียได้ดี ทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นขึ้นด้วย
  • รับประทานน้ำมันปลา เนื่องจากกรดไขมันโอเมก้า 3ในน้ำมันปลา สามารถช่วยลดการอักเสบและเพิ่มความชุมชื้นให้แก่ผิวได้

วิธีรับมือสิวฮอร์โมน

ถึงแม้ว่า “สิวฮอร์โมน” จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบฮอร์โมนภายใน หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดสิวฮอร์โมนได้ ดังต่อไปนี้

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนต่อผิว ไม่ทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน หลีกเลี่ยงการใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันลาโนลิน (Lanolin) ซิลิโคน (Silicone) และน้ำมันแร่ (Mineral Oil) ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันผิว รวมถึงไม่มีสารอันตรายต่างๆเป็นส่วนผสม ไม่ว่าจะเป็น สเตียรอยด์ ไฮโดวควิโนน สารปรอท เพราะอาจจะทำให้สิวเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมและสารอันตรายเหล่านี้ยังทำลายแนวเคลือบผิวและโครงสร้างภายในผิวได้อีกด้วย
  • ล้างทำความสะอาดผิวหน้าให้สะอาด วันละ 2 ครั้ง และควรทำความสะอาดเครื่องสำอางบนใบหน้าให้สะอาดหมดจดก่อนเข้านอน
  • ไม่บีบ แกะ หรือสัมผัสผิวหน้าในบริเวณที่เป็นสิว และหลีกเลี่ยงการขัดหรือสครับผิวหน้าอย่างรุนแรงหรือบ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นและทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ รักษาได้ยากขึ้นด้วย
  • ทาครีมกันแดดทุกวัน เพื่อป้องกันผิวเสียและแห้งกร้านจากแสงแดด โดยเลือกที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมันและสารที่ก่อให้เกิดการอุดตันผิว
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นการเกิดสิว หรือกระตุ้นต่อมไขมันให้ทำงานหนักมากขึ้น อย่างเช่นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลสูง ควรหันมารับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูงและดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายมากขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตและอาจช่วยลดการอักเสบของผิวได้
  • ลดความตึงเครียดสะสม ด้วยการหากิจกรรมสร้างสรรค์ทำ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายและสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก โยคะ หรือกิจกรรมสนุกๆในครอบครัว ก็จะช่วยลดระดับความเครียด ความกดดัน และลดโอกาสการเกิดภาวะฮอร์โมนแปรปรวนได้
  • ให้ขอคำแนะนำจากแพทย์ผิวหนัง เพื่อหาแนวทางในการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวฮอร์โมน

  • สิวฮอร์โมนจะหายภายในกี่วัน? การรักษาสิวฮอร์โมน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของสิว บางรายสิวจะหายไปเองหลังเป็นประจำเดือน แต่ในบางรายอาจะเป็นสิวฮอร์โมนประมาณ 2-3 วัน ในขณะที่บางรายเป็นสิวนานถึง 2-3 สัปดาห์แล้วค่อยๆหายไป
  • การเป็นประจำเดือนเกี่ยวข้องอย่างไรกับสิวฮอร์โมน? จากการศึกษาทางด้านผิวหนังพบว่า 60% ของผู้หญิงที่เป็นสิวฮอร์โมนรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีความแปรปรวนมากที่สุด และโดยปกติรอบเดือนมีระยะเวลา 28 วัน (นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนและสิ้นสุด 1 วันก่อนที่จะมีเลือดประจำเดือนอีกครั้ง) โดยในแต่ละรอบวันระดับฮอร์โมนจะแตกต่างกัน
    • วันที่ 1-14  ในช่วงนี้ฮอร์โมนผู้หญิงอย่างเอสโตรเจน (Estrogen) จะมีระดับที่สูงกว่าฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะทำให้ผิวดูเปล่งปลั่ง
    • วันที่ 14-28  ในทางกลับกัน ในช่วงเวลานี้ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มสูงขึ้นกว่าเอสโตรเจน (Estrogen) ทำให้ผนังมดลูกมีความหนาตัวขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาที่ประจำเดือนมาฮอร์โมนทั้งสองนี้จะลดต่ำลง ส่งผลให้ผนังมดลูกสลายตัวออกมาเป็นประจำเดือน ทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายมีระดับที่สูงขึ้น กระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ทำให้เกิดสิวฮอร์โมนขึ้นมา
  • ระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิวฮอร์โมนได้จริงหรือ?
    ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่ฮอร์โมนมีการผันผวนและทำให้เกิดสิวได้ ซึ่งในช่วง 3 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่มีระดับฮอร์โมนขึ้นสูงสุด โดยสิวฮอร์โมนสามารถประทุขึ้นมาทั้งในระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังคลอดก็ได้ สิ่งสำคัญคือ หากต้องการรักษาสิวในช่วงเวลานี้ ให้ขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ เพราะเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอวัยวะที่สำคัญ และยารักษาสิวบางประเภท ไม่ควรนำมาใช้ระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ทำไมประจำเดือนหมดแล้ว..ยังเป็นสิวอยู่?
    ในวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเริ่มผลิตในปริมาณที่น้อยลง ทำให้เกิดอาการต่างๆตามมาได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ รอบเดือนผิดปกติ  ผิวหนังสูญเสียความสามารถในการเก็บความชุ่มชื้น และผิวจะต้องใช้เวลานานกว่าในการสร้างใหม่และรักษาตัวเอง ดังนั้นผิวจึงบางและยืดหยุ่นน้อยลงส่งผลให้ผิวบอบบาง แห้งและไวต่อการเกิดสิว
  • ยาคุมกำเนิดช่วยควบคุมการเกิดสิวอย่างได้ผลจริงหรือ?
    “ยาคุมกำเนิด” ได้ถูกนำมาใช้ในการต้านฤทธิ์แอนโดรเจน(ฮอร์โมนเพศชาย) ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน สามารถลดการผลิตน้ำมันบนผิวหน้า ช่วยลดการอุดตันในรูขุมขนอันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสิว แต่สิ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจก็คือว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้ยาคุมกำเนิดรักษาสิวได้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น มีประวัติเกี่ยวกับการเป็นลิ่มเลือด ความดันโลหิตสูง น้ำหนักเกินเกณฑ์หรือสูบบุหรี่เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงที่อันตราย

จัดการปัญหาสิวฮอร์โมนด้วย acnelan

acnelan เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ในทุกสภาพปัญหาสิว ไม่ว่าจะเป็นสิวเรื้อรัง สิวอักเสบ สิวอุดตัน หรือสิวฮอร์โมน โดยช่วยทำความสะอาดไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันอยู่ภายในรูขุมขน อ่อนโยนต่อทุกสภาพผิว ปราศจากสารเคมีอันตรายที่ทำร้ายผิว ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำทรีทเม้นท์ในคลินิก มีดังต่อไปนี้

  • เจลมาส์กสูตรเข้มข้นอย่าง acnelan multifactor mask acnelan pack ที่ช่วยทำความสะอาดผิวได้อย่างล้ำลึก ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน พร้อมฟื้นบำรุงผิวที่มีสาเหตุมาจากการเกิดสิว
  • post-peel neutralizing spray acnelan pack ช่วยปรับสภาพผิวให้อยู่ในสภาวะสมดุล ด้วยค่า 6
  • pore sealing shield สำหรับการบำรุงผิวอย่างเข้มข้นในระหวjางการทำทรีทเม้นท์ ช่วยให้รูขุมขนกระชับขึ้น

และสำหรับท่านใดที่ต้องการฟื้นฟูสภาพผิว พร้อมบำรุงด้วยตัวเองที่บ้าน ก็มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลายหลาย ดังต่อไปนี้

  • purifying mousse เริ่มต้นทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าเนื้อมูส สำหรับผิวมันและผิวที่มีแนวโน้มเป็นสิวง่าย โดยช่วยขจัดความมันส่วนเกินบนใบหน้ารวมถึงสิ่งสกปรกต่างๆที่ตกค้างอยู่บนผิว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
  • acne one เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลผิวที่มีปัญหาสิว ช่วยขจัดส่วนเกินบนใบหน้า ลดการอุดตันบริเวณรูขุมขน
  • imperfection control เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยฟื้นบำรุงเฉพาะจุด เหมาะสำหรับผิวมันและผิวเป็นสิวง่าย ทั้งยังช่วยปกปิดรอยสิว รอยแดง รอยดำจากสิวได้ดีเยี่ยมด้วย
  • pure renewing mask มาส์กหน้าสูตรสำหรับผิวเป็นสิว พร้อมช่วยขจัดความมันส่วนเกินบนผิวหน้า ทำให้เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพหลุดออกมา ลดการอุดตันและการสะสมของสิ่งสกปรกบริเวณรูขุมขน
  • hydra-vital light เป็นเจลครีมเนื้อบางที่ให้ความชุ่มชื้นและฟื้นบำรุงผิว
  • hydra-vital factor k เป็นครีมบำรุงผิวที่ให้ความชุ่มชื้นเป็นพิเศษ สำหรับท่านที่ต้องการคืนความชุ่มชื้นให้แก่ผิวอย่างล้ำลึก และทำหน้าที่เป็นเหมือนโครงสร้างเกราะปกป้องผิวจากมลภาวะและสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ดี
  • melan recovery บาล์มบำรุงผิวสูตรเข้มข้น ที่ช่วยปลอบประโลมผิวและฟื้นบำรุงผิวอย่างล้ำลึกหลังการทำทรีทเม้นท์ที่อาจทำให้ผิวหลุดลอกหรือเกิดการระคายเคือง
  • Fast skin repair สำหรับท่านที่ชอบการบำรุงผิวอย่างเร่งด่วน ที่ช่วยลดการระคายเคืองของผิวจากหลายปัจจัย พร้อมเป็นเกราะปกป้องผิวให้แข็งแรง เหมาะสำหรับผิวบอบบางหรือแพ้ง่าย

สำหรับท่านที่มีปัญหา “สิวฮอร์โมน” ที่มีลักษณะของสิวในหลากหลายรูปแบบ ให้ผลิตภัณฑ์ของ acnelan ที่จะช่วยทำความสะอาดผิวหน้าของคุณให้สะอาดอย่างล้ำลึกจนถึงรูขุมขน พร้อมฟื้นบำรุงจนถึงชั้นผิวในระดับลึก สามารถใช้ควบคู่กับการรักษาในรูปแบบอื่นได้โดยไม่ทำร้ายผิวและยังทำให้สิวค่อยๆดีขึ้น พร้อมเผยผิวใสได้อีกครั้งอย่างแน่นอน

ใส่ความเห็น