มลภาวะ PM 2.5 วายร้ายทำลายผิว

               ปัญหามลภาวะในอากาศเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นมาในระยะ 2-3 ปีให้หลังมานี้ ยิ่งในประเทศไทยมีค่าฝุ่นละอองในอากาติดอันดับท็อปต้น ๆ ของโลกก็เคยมาแล้ว โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่เรียกได้ว่าแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่เราต้องประสบในทุก ๆ วัน ซึ่งแน่นอนว่าสะสมไปนาน ๆ เข้าย่อมเป็นผลเสียต่อร่างกายที่อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งตามมาได้ ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าฝุ่น PM 2.5 นี้ยังส่งผลเสียต่อผิวของเราด้วย การดูแลและฟื้นฟูสุขภาพผิวอยู่เป็นประจำจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ละเลยไม่ได้ เราจะมีวิธีการป้องกันผิวจากอันตรายของ Pm 2.5 อย่างไรนั้นตามมาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย

มีอะไรใน PM 2.5

               ฝุ่น PM 2.5 เป็นมลภาวะในอากาศย่อมาจาก Particulate Matter with diameter of less than 2.5 micron เป็นมลพิษที่ปะปนล่องลอยอยู่ในอากาศซึ่งประกอบไปด้วยอนุภาคและสารเคมีหลายชนิดโดยเฉพาะอนุภาคฝุ่นละอองระดับไมครอน (1 ใน 1000 ของมิลลิเมตร) จึงเรียกรวม ๆ กันว่า PM 2.5 เพราะส่วนใหญ่จะมีแต่สารอนุภาคเล็กระดับ 2.5 ไมครอน

  • คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)

               เกิดจากปฏิกิริยาสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง และสารประกอบคาร์บอนต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์และตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายมากหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจทำให้ถึงตายได้

  • ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ()

               เกิดจากการเผาไหม้ที่มีกำมะถันปะปนออกมา อาจจะเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม การถลุงแร่ เมื่อสะสมในชั้นบรรยากาศจะก่อให้เกิดฝนกรด และเป็นอันตรายต่อเยื้อบุตา เยื้อบุโพรงจมูก และทางเดินหายใจ

  • ไนโตรเจนไดออกไซด์ ()

               เกิดจากการเผาไหม้ในอุณหภูมิที่สูง รวมไปถึงการเผาไหม้จากยวดยานพาหนะและเครื่องจักรต่าง ๆ นอกจากนั้นยังสามารถเกิดขึ้นได้เองจากปฏิกิริยาเคมีกับสารอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศ

  • โอโซน ()

               แม้ว่าโอโซนจะช่วยป้องกันภาวะเรือนกระจก ป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น แต่โอโซนก็เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบกล้ามเนื้อหัวใจ ก่อให้เกิดการระคายเคืองนัยน์ตาและเยื้อจมูก

  • สารตะกั่ว (Pb)

               สารตะกั่วจากการเผาไหม้ขยะอิเล็กโทรนิกพวกแบตเตอรี่ ถ่านไฟฟ้า กระป๋อง ฯลฯ นอกจากนั้นยังเกิดจากการถลุงแร่และยวดยานพาหนะ ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และทำให้ไตล้มเหลว

  • ฝุ่นละออง

               ฝุ่นละอองจากควันไฟ ควันรถยนต์ และการเผาไหม้ต่าง ๆ รวมไปถึงฝุ่นปูน ฝุ่นจากโรงงานและไซสืก่อสร้าง เหล่านี้เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดการระเคืองผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ

PM 2.5 มาจากไหน?

               ปกติแล้วฝุ่น PM 2.5 จะสูงมากในช่วงปลายฤดูหนาว หรือประมาณช่วงปลายปีถึงต้นปี (พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) เป็นช่วงที่มีความกดอากาศสูงแผ่ตัวปกคลุมประเทศไทยอยู่ในบริเวณกว้าง ประกอบกับมีความผกผันกลับของอุณหภูมิในระดับล่างที่พื้นผิวโลกส่งผลให้การถ่ายเทอากาศไม่ดี การกระจายตัวของฝุ่นและอนุภาคต่าง ๆ จึงลอยตัวอยู่ต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงมีอนุภาคของฝุ่นและควันในปริมาณที่สูงมาก

               ทั้งนี้ ฝุ่นมลภาวะ PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดมาจากควันท่อไอเสียของยวดยานพาหนะบนท้องถนน การเผาไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเผาในภาคเกษตร ไฟป่าในช่วงฤดูแล้ง เหล่านี้เป็นที่มาของมลภาวะและ PM 2.5 ไม่เพียงเท่านั้นการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างการเผาขยะในบ้านเรือน การใช้เตาฟืนในการหุงต้ม รวมไปถึงการสูบบุหรี่ โดยขณะที่เราสูบบุหรี่หนึ่งมวนจะก่อให้เกิดควันสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด ขณะที่ปลายบุหรี่ที่มีความร้อนสูงเมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศแล้วจะทำปฏิกิริยาเกิดเป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์

               นอกจากนั้นการจุดธูปเทียนตามศาสนาสถานและบ้านเรือนก็ให้เกิดมลภาวะได้โดยเฉพาะคาร์บอนมอนอกไซด์ อีกทั้งสารเคมีต่าง ๆ ในธูปและเทียนเมื่อเกิดการเผาไหม้ยังปล่ยควันและสารเคมีอีกหลายชนิด เช่น มีเทน ฝุ่นผง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารก่อมะเร็งอีกหลายชนิด ซึ่งหากเราสูดดมเข้าสู่ร่างกายก็จะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้

               ไม่เพียงเท่านั้นการถ่ายเอกสารยังปล่อยก๊าซโอโซนออกมา เพราะในกระบวนการถ่ายเอกสารจะมีการปล่อยโอโซนและสารระเหยจากประจุลบของลูกกลิ้งกระดาษและแสงจากหลอดไฟของเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษสะสมในอากาศและชั้นบรรยากาศ

อันตรายของ PM 2.5

               ด้วยความที่อนุภาคเล็กระดับไมครอนเทียบเท่ากับระดับไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดจึงทำให้สามารถหลุดรอดเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่าย โดยเฉพาะช่องทางของระบบทางเดินหายใจอย่างจมูกและปาก เมื่อเราสูดเอามลภาวะ PM 2.5 เข้าไปในร่างกายจะก่อให้เกิดการระคายเคืองกับทางเดินหายใจ เริ่มตั้งแต่ในช่อง เยื้อบุโพรงจมูก คอหอย หลอดลม กล่องเสียง และอันตรายร้ายแรงเมื่อเข้าไปสู่ถุงลมในปอด ไม่เพียงเท่านั้น PM 2.5 ยังเข้าสู่ร่างกายได้ทางดวงตาและผิวหนังได้อีกด้วย  โดยเมื่อเราได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายนั้นจะก่อผลกระทบกับร่างกาย ดังนี้

  • ผลกระทบเฉียบพลัน

               อันตรายแบบเฉียบพลันของ PM 2.5 เริ่มจากอาการเล็ก ๆ อย่างการระคายเคืองคอ ไอ คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ยิ่งคนที่เป็นภูมิแพ้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็จะยิ่งมีอาการมากขึ้นคล้ายภูมิแพ้กำเริบ มีการระคายเคืองดวงตา ผิวหนัง หนักเข้าอาจมีอาการหืดหอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจจะอันตรายถึงขั้นหมดสติและถึงแก่ชีวิตได้

  • ผลกระทบเรื้อรัง

               มลภาวะ PM 2.5 อาจจะสะสมก่อให้เกิดผลข้างเคียงเรื้อรังกังร่างกายระยะยาวได้ อย่างแรกเลยคือทำให้เกิดปัญหากับปอดและระบบทางเดินหายใจ ไอเรื้อรัง และอาจก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เลยด้วยซ้ำ นอกจากนั้นแล้วอาจจะปนเปื้อนเข้าสู่กระแสเลือดเป็นอันตรายต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจได้

อันตรายของมลภาวะ PM 2.5 ที่เกิดกับผิว

               มลภาวะ PM 2.5 ไม่ได้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางผิวหนังของเราด้วย เพราะผิวหนังของเราเป็นอวัยวะปกป้องและห่อหุ้มร่างกายจากสภาวะแวดล้อมภายนอก ดังนั้น ผิวหนังจึงเป็นปราการด่านแรก ๆ ที่ปะทะกับมลภาวะและสารเคมีได้โดยตรง ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดกับผิวนั้นก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและปริมาณของสารเคมีที่ได้รับ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผิวอาจะจะมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงสะสมจนทำให้เซลล์ผิวเสื่อมได้ในระยะยาว

               ผลกระทบเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ PM 2.5 นั้นก็มีตั้งแต่อาการระคายเคืองผิว จนเกิดเป็นผื่นหรือรอยแดงอักเสบขึ้น มีงานวิจัยพบว่าฝุ่นผงและอนุภาค PM 2.5 เพียงแค่ 10 ไมโครกรัมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตรก็จะกระตุ้นให้เซลล์ผิวทำงานผิดปกติ โดยไปทำลายโปรตีน Filaggrin ที่มีหน้าที่ช่วยป้องกันผิวหนัง และยังไปกระตุ้นการอักเสบของผิวหนังก่อให้เกิดการระคายเคือง ผืนคัน และรอยแดง นอกจากนั้นยังไปทำลายเกราะป้องกันผิว (skin barrier) ทำให้ผิวอ่อนแอลง ยิ่งคนที่เป็นภูมิแพ้หรือมีปัญหาโรคผิวหนังเดิมอยู่แล้วก็จะยิ่งทวีความรุนแรงของการแพ้ระคายเคืองมากขึ้นไปอีก นอกจากนั้น PM 2.5 ยังอาจหมักหมมและอุดตันอยู่ตามรูขุมขนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแบคทีเรียซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสิวต่าง ๆ ตามมาได้

               ส่วนผลกระทบแบบเรื้อรังก็คือเซลล์ผิวของเราจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงและเกิดปัญหาผิวต่าง ๆ ตามมา เพราะว่าอนุภาค PM 2.5 จะไปทำลายเกราะป้องกันผิวแล้วทำปฏิกิริยากับสารชีวโมเลกุลต่าง ๆ ในเซลล์ผิวจนเกิดเป็นอนุมูลอิสระขึ้นมา ทำให้เซลล์ผิวสูญเสียฟังก์ชั่นการทำงาน กระบวนการสร้างเซลล์ผิวน้อยลง อัตราการผลัดเซลล์ผิวก็จะน้อยลงตาม ผิวก็จะหมองคล้ำขึ้น เกิดจุดด่างดำ กระ ฝ้า ขึ้นได้ง่าย ที่สำคัญอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นยังไปทำลายโครงสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินใต้ชั้นผิว ส่งผลให้ผิวเหี่ยวย่นไม่ยกกระชับ เกิดปัญหาผิวหย่อนคล้อยและริ้วรอยตามมา ทำให้ดูแก่กว่าวัย ไม่เพียงเท่านั้นอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจาก PM 2.5 นี้ยังกระตุ้นให้เกิดสารก่อมะเร็งขึ้นได้จึงเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งผิวหนังตามมาได้หากมีการสะสมไว้เป็นเวลานาน

7 วิธีการป้องกันอันตรายของมลภาวะ PM 2.5

  1. สวมใส่หน้ากากอนามัย

               แนวทางป้องกัน PM 2.5 ง่าย ๆ ก็คือการสวมใส่แมสหรือหน้ากากอนามัยที่ป้องกันอนุภาคได้ระดับไมครอน อย่าง M95 เพราะไม่ใช่หน้ากากอะไรก็ได้ที่จะป้องกัน PM 2.5 ได้ เวลาจะออกไปที่แจ้งหรือไปสัมผัสฝุ่นควันเราควรพกหน้ากากอนามัยติดตัวไปด้วยเสมอ

  1. ชำระล้างร่างกายและสระผมให้สะอาด

               เมื่อกลับมาถึงบ้านเราต้องอาบน้ำ ล้างหน้า และสระผมให้สะอาดเพื่อชำระล้างเอาฝุ่นละอองอนุภาค PM 2.5 ออกจากร่างกาย ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพในการขจัดสิ่งสกปรกได้ล้ำลึกระดับรูขุมขน ส่วนแชมพูเลือกสูตรที่ช่วยดีท็อกซ์ขจัดสารเคมีตกค้างจากเส้นผม

  1. เช็ดทำความสะอาดด้วยโทนเนอร์

               หลังจากล้างหน้าทำความสะอาดผิวแล้วเราควรใช้ผลิตภัณฑ์โทนเนอร์เช็ดทำความสะอาดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพราะเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะถูกขจัดออกไปได้หมดจดในขั้นตอนของการล้างหน้า ดังนั้น การเช็ดด้วยโทนเนอร์อีกครั้งจึงเป็นการย้ำให้สะอาดอีกครั้ง

  1. ใช้สกินแคร์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ

               การใช้สกินแคร์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซี วิตามินอี สารสกัดจากชาเขียว วิตามินบี ฯลฯ จะช่วยฟื้นฟูผิว เพราะฝุ่นละออง PM 2.5 ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้น ซึ่งบางครั้งเราล้างทำความสะอาดได้แต่ฝุ่นผงภายนอก หากแต่อนุมูลอิสระมันเกิดขึ้นในเซลล์ผิวไม่สามารถขจัดออกได้ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยฟื้นฟูผิวและยั้บยั้งไม่ให้อนุมูลอิสระทำร้ายจนเซลล์ผิวเสื่อมสภาพ

  1. มอยส์เจอร์ไรเซอร์

               ผิวที่สัมผัสกับฝุ่นละอองและอนุภาค PM 2.5 จะมีความแห้งกร้านและอักเสบระคายเคือง การบำรุงด้วยครีมมอยส์เจอร์ไรเซอร์จะช่วยกักเก็บและเติมเต็มความชุ่มชื้นให้กับผิว ทำให้ผิวฉ่ำน้ำไม่แห้งกร้าน อีกทั้งยังช่วยกระชับรูขุมขนลดความเสี่ยงไม่ให้ฝุ่นละอองต่าง ๆ มาอุดตันรูขุมขน

  1. ทาครีมกันแดดเป็นประจำ

               การทาครีมกันแดดจะช่วยป้องกันไม่ให้มลภาวะและอนุภาค PM 2.5 มาทำร้ายผิว เพราะเมื่อออกแดดจะทำให้ผิวเรามันง่าย ซึ่งความมันจะยิ่งดักจับฝุ่นและอนุภาคต่าง ๆ ได้ง่าย เราจึงควรทาครีมกันแดดสูตรช่วยควบคุมความมันที่มี SPF เหมาะสม จะช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดและฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ให้มาทำร้ายผิว

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

               รับประทานอาหารที่สุกสะอาดและมีประโยชน์ เลือกรับประทานพืชผักและผลไม้ เพราะจะมีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยดูแลสุขภาพจากภายในสู่ภายนอก นอกจากนั้นเรายังอาจรับประทานวิตามินในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมด้วยก็ได้ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและวิตามินได้เพียงพอ

               ฝุ่นควันและมลภาวะ PM 2.5 ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่จริง ๆ แล้วกลับเป็นภัยเงียบที่ค่อย ๆ คืบคลานก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้แบบชนิดที่เราไม่ทันรู้ตัว มารู้อีกทีก็เมื่อสายและมีอาการรุนแรงแล้ว โดยเฉพาะกับผิวพรรณของเราที่แสดงอาการก็ต่อเมื่อเซลล์ผิวเสื่อมสภาพไปแล้ว เกิดปัญหาผิว ริ้วรอยเหี่ยวย่น และความหมองคล้ำไปแล้ว ซึ่งกว่าจะฟื้นฟูรักษาให้กลับมาแข็งแรงสุขภาพดีได้ดังเดิมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ดูแลผิวอยู่เป็นประจำจึงเป็นทางออกที่สำคัญที่จะทำให้ผิวของเรามีสุขภาพดีและช่วยป้องกัน PM 2.5

ใส่ความเห็น