อนุมูลอิสระ คืออะไร ทำไมถึงส่งผลร้ายกับผิว?

               เชื่อว่าในหมู่คนที่รักและใส่ใจกับการดูแลสุขภาพคงจะคุ้นหูกันดีกับคำว่า “อนุมูลอิสระ” ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะบั่นทอนสุขภาพ ทำลายเซลล์ในร่างกายส่งผลให้ร่างกายเกิดความเสียหาและปัญหาต่าง ๆ ตามมา หนึ่งในนั้นก็คือเป็นหาผิว เราลองมาทำความรู้จักกับเจ้าอนุมูลอิสระที่ว่านี้กันให้มากขึ้นดีกว่าว่าจริง ๆ แล้วมันคืออะไร มาจากไหน แล้วส่งผลร้ายทำลายผิวของเราได้ยังไง พร้อมวิธีการป้องกันและจัดการไม่ให้อนุมูลอิสระเข้ามาทำร้ายผิว

อนุมูลอิสระ คืออะไร

อนุมูลอิสระ (free radicals) หรือ Reactive oxygen species (ROS) เป็นสารที่มีโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนโดดเดี่ยวไม่ครบคู่อยู่ 1 ตัว ทำให้เป็นโมเลกุลที่ไม่เสถียร พร้อมที่จะทำปฏิกิริยาด้วยการไปดึงอิเล็กตรอนจากโมเลกุลอื่น ๆ เพื่อให้ตัวมันเองเสถียรอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อมันอยู่ในร่างกายของเรามันจะไปดึงเอาอิเล็กตรอนจากเซลล์หรือโมเลกุลอื่น ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดความเสียหาต่อเซลล์ที่สูญเสียอิเล็กตรอนไป

อนุมูลอิสระสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มที่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบสําคัญ (reactive oxygen species, ROS) กลุ่มที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสําคัญ (reactive nitrogen species, RNS) และกลุ่มที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบสําคัญ (reactive chlorine species, RCS)

กลไกการทำปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระ

เมื่อมีสารอนุมูลอิสระในร่างกายมันจะว่องไวและพร้อมที่จะเข้าทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับสารชีวโมเลกุลต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น เปลี่ยนแปลงสภาพโปรตีนและลิพิดหรือไขมันในเยื้อหุ้มเซลล์ ทำลายโครงสร้างของเอนไซม์ต่าง ๆ  รวมไปถึงทำลายโครงสร้างของ DNA ทำให้การทำงานของเซลล์และกลไกต่าง ๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปและสูญเสียหน้าที่การทำงาน ซึ่งอนุมูลอิสระจะทำปฏิกิริยาต่อเนื่องแบบลูกโซ่ทำให้เซลล์และเนื้อเยื้อในร่างกายเกิดการอักเสบ ก่อให้เกิดความผิดปกติทางพยาธิสภาพ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ต้อกระจก โรคไขข้อกระดูก หนักเข้าอาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ ตามมา ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นกับผิวก็คือทำให้เกราะป้องกันผิว (skin barrier) อ่อนแอ ผิวไม่ชุ่มชื้น แห้งกร้าน ทำให้เกิดปัญหาริ้วรอยและความหย่อนคล้อยตามมา ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเก่าและสร้างเซลล์ผิวใหม่ช้าลง ผิวจึงหมองคล้ำไม่กระจ่างใส

กลไกการเกิดปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระมีด้วยกัน 3 ขั้นตอน ขั้นแรกเรียกว่าอินนิทิเอชัน (initiation) เป็นขั้นที่อนุมูลอิสระถูกสร้างขึ้น ขั้นตอนมาเรียกว่าพรอพาเกชัน (propagation) ที่โมเลกุลอนุมูลอิสระเปลี่ยนเป็นอนุมูลอิสระตัวอื่นต่อ ๆ กันไป และขั้นสุดท้ายเทอร์มิเนชัน (termination) เป็นขั้นหยุดปฏิกิริยาของอนุมูลอิสระ ซึ่งมีการรวมกันของอนุมูลอิสระ 2 ตัวได้เป็นสารที่มีความเสถียร

อนุมูลอิสระมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร

พออ่านมาถึงตรงนี้คงพอสรุปได้ว่าอนุมูลอิสระนั้นว่ากันแล้วก็เปรียบเสมือนวายร้ายที่คอยจะทำลายร่างกายและก่อให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ตามมา ที่นี้หลาย ๆ คนอาจจะเกิดคำถามแล้วว่าอนุมูลอิสระนั้นมันมาจากไหน แล้วมันเข้าไปสู่ร่างกายของเราได้อย่างไร จริง ๆ แล้วปัจจัยการเกิดอนุมูลอิสระนั้นมี 2 สาเหตุด้วยกัน คือ ปัจจัยจากภายในร่างกายของเราเอง และมลภาวะจากภายนอก

ปัจจัยภายในร่างกาย

กลไกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเราก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเมตาบอลิซึม กระบวนการออกซิเดชั่น กระบวนการสร้างพลังงาน เป็นต้น เพราะกระบวนการเหล่านี้จะมีการสลายพันธะของโมเลกุลของสารอินทรีย์หลายชนิดซึ่งจะทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นในกระบวนการขจัดสิ่งแปลกปลอมของเม็ดเลือดขาวก็ทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาได้ เพราะระหว่างที่เม็ดเลือดขาวกลืนกินเชื้อโรคเข้ามาจะมีการดึงโมเลกุลออกซิเจนเข้ามาด้วย ซึ่งจะเปลี่ยนรูปปกลายไปเป็นอนุมูลอิสระได้ในที่สุด

ปัจจัยภายนอกร่างกาย

ปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกายนั้นก็มีอยู่หลายชนิด ซึ่งสามารถแบ่งจำแนกประเภทออกได้ ดังนี้

  • มลภาวะและฝุ่นควัน

มลภาวะในอากาศรวมไปถึงฝุ่นควันต่าง ๆ อย่างควันรถยนต์ ควันไฟ ไปจนถึงอนุภาคฝุ่นควันขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้น ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายของเราผ่านทางสูดเข้าทางจมูก ปาก รวมไปถึงทางผิวหนังก็จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย

  • อาหาร

อาหารที่เรารับประทานก็ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระได้เช่นกัน โดยเฉพาะอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดที่มีน้ำมัน หรือผ่านการทอดด้วยน้ำมันในอุณหภูมิสูงหรือใช้น้ำมันทอดซ้ำ รวมไปถึงอาหารพวกปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม หรือพวกผักที่มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง เพราะจะมีสารอนุมูลอิสระและสารก่อมะเร็ง

  • ควันบุหรี่

ในควันบุหรี่จะมีส่วนประกอบของสาร  nitric oxide (NO), nitrogen dioxide (NO2 ) และ peroxynitrite (ONOO‘ ) ซึ่งการที่ร่างกายจะขับสารเหล่านี้ออกจากร่างกายนั้นจะทำให้เกิดโมเลกุลของอนุมูลอิสระขึ้นมาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผู้สูบบุหรี่หรือผู้ที่สูดรับควันบุหรี่ก็มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะมีอนุมูลอิสระในปริมาณสูง

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายมีอนุมูลอิสระสูง เพราะร่างกายจะต้องทำปฏิกิริยากำจัดโมเลกุลของแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ซึ่งกระบวนการกำจัดและเผาผลาญแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายนั้นจะเกิดโมเลกุลของอนุมูลอิสระขึ้นมา

  • ยาบางชนิด

ยารักษาโรคบางชนิดอาจก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกายได้โดยเฉพาะในกลุ่มยาต้านมะเร็ง เช่น bleomycin, anthracyclines และ methotrexate เพราะจะออกฤทธิ์เสริมปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในร่างกายทำให้เกิดโมเลกุลของสารอนุมูลอิสระขึ้น

  • แสงแดด

แสงแดดและรังสียูวีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระผ่านกระบวนการ Photolysis โดยแสงแดงและรังสียูวีจะทำให้พลังงานของโมเลกุลสารอินทรีย์ในร่างกายสูงขึ้นจึงต้องมีการปลดปล่อยพลังงานออกจากโมเลกุล ซึ่งกระบวนการนี้เองจะทำให้โมเลกุลของสารอินทรีย์เกิดการแตกตัวออกเป็นอนุมูลอิสระ

  • รังสีต่าง ๆ

รังสีต่าง ๆ อย่าง รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และอิเล็กตรอนที่มีพลังงานสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสลายพันธะของสารชีวโมเลกุลในร่างกายก่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันไม่อิ่มตัวในร่างกายทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้น นอกจากนั้นพลังงานจากรังสียังส่งถ่ายไปยังโมเลกุลของน้ำในเซลล์แล้วแตกตัวได้เป็นสารอนุมูลอิสระ

ยั้บยั้งอนุมูลอิสระด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระแอนติออกซิแดนซ์ (antioxidants) เป็นสารที่ช่วยชะลอและป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย และยังเป็นสารที่ช่วยขจัดอนุมูลอิสระออกจากร่างกาย โดยเราสามารถแบ่งสารต้านอนุมูลอิสระออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สารต้านอนุมูลอิสระประเภทเอมไซม์ที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง เช่น superoxide dismutase, glutathione peroxidase, catalase เป็นต้น ซึ่งเอนไซม์เหล่านี้จะไปยั้บยั้บงกระบวนการเกิดสารอนุมูลอิสระ  ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือสารต้านอนุมูลอิสระที่ดักจับกับอนุมูลอิสระไม่ให้ทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับเซลล์และโมเลกุลต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น วิตามินซี วิตามินอี ฟลาโวนอยด์ วิตามินเอ เป็นต้น

กลไกการยั้บยั้งอนุมูลอิสระของสารต้านอนุมูลอิสระแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่ให้อิเล็กตรอนเพื่อทำให้อนุมูลอิสระเสถียรเพื่อไม่ให้ไปทำปฏิกิริยากับโมเลกุลต่าง ๆ ในเซลล์ หรือตรงเข้าจับกับสารเร่งปฏิกิริยาออกซิเดชั่นเพื่อยั้บยั้งไม่ให้เกิดกลไกปฏิกิริยา ไปจนถึงหยุดปฏิกิริยาการสร้างอนุมูลอิสระ

วิธีป้องกันอนุมูลอิสระไม่ให้มากร่ำกรายทำลายผิว

  1. หยุดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ

หยุดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ฯลฯ ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หันมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่เสมอเพื่อป้องกันการเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย

  1. รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ

ควรเน้นรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซีซึ่งพบมากในฝรั่ง ส้ม ผลไม้รสเปรี้ยว และในผักใบเขียว วิตามินอีพบในธัญพืชและน้ำมันสกัดจากพืช วิตามินเอพบในมะเขือเทศ ฟักทอง นม ผักใบเขียว แคโรทีนอยด์พบในกลุ่มพืชผักที่มีสีส้มเหลือง เช่น แครอท ฟักทอง กล้วย และฟลาโวนอยด์ที่พบในชาเขียว ชาอู่หลง และผลไม้ตระกูลเบอรี่

  1. รับประทานอาหารเสริม

การรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระจากมื้ออาหารอาจจะได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอเราสามารถรับปะทานเสริมจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ เช่น วิตามินซีสกัด วิตามินรวม จะช่วยเสริมสร้างปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระและยั้บยั้งอนุมูลอิสระในร่างกายได้

  1. สกินแคร์บำรุงผิว

การทาสกินแคร์หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยเสริมกำลังจากภายนอก ช่วยให้เซลล์ผิวแข็งแรง และยั้บยั้งไม่ให้อนุมูลอิสระเข้ามาทำร้ายเซลล์ผิวให้เสื่อมสภาพ

  1. ทาครีมกันแดด

แสงแดดและรังสียูวีเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ การทาครีมกันแดดอยู่เป็นประจำจึงช่วยป้องกันอนุมูลอิสระได้ ที่สำคัญยังช่วยป้องกันการเกิดฝ้า กระ จุดด่างดำ และความหมองคล้ำได้อีกด้วย

3 นวัตกรรมปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระจาก mesoestetic

  1. aox ferulic

ผลิตภัณฑ์ aox ferulic เป็นเซรั่มที่ช่วยบำรุงและปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระที่เกิดจากรังสียูวี รังสีอนฟาเรด และแสงสีฟ้า เพราะมีส่วนผสมของสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดไม่ว่าจะเป็น Ferulic acid 0.5% ช่วยให้ผิวแลดูยืดหยุ่น และอ่อนเยาว์ Vitamin C 15% ช่วยปรับสภาพผิวให้กระจ่างใส ลดเลือนความหมองคล้ำ และ Protech cell complex 1.5% เป็นอนุพันธ์วิตามินอีช่วยลดเลือนริ้วรอย ให้ผิวเรียบเนียน และป้องกันอนุมูลอิสระจากภายนอกไม่ให้ทำร้ายผิว

  1. Energy C intensive cream

ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวหน้าที่อุดมไปด้วยวิตามินซีเข้มข้นในรูปแบบอนุพันธ์วิตามินซี Ascorbyl glucoside และยังมีวิตามินอีซึ่งทั้งสองมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่น และช่วยปรับสภาพผิวให้กระจ่างใสเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีสารสกัดจากข้าวโอ๊ต ที่ช่วยบำรุงให้ความชุ่มชื้นกับผิวทำให้ผิวแลดูยืดหยุ่นและตึงกระชับ

  1. Hydra – vital factor k

ครีมบำรุงผิวทำหน้าที่เสมือนโครงสร้างเกราะปกป้องผิวจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวชุ่มชื้นได้ยาวนาน เพราะมี Ultra-moisturising complex ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน ยูเรีย อัลลันโทอิน และกรดแลคติค ช่วยกักเก็บและเติมเต็มความชุ่มชื้นให้กับผิว และยังมีวิตามินอีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระไม่ให้เข้ามาทำร้ายผิว

อนุมูลอิสระเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะสาเหตุของมันเกิดทั้งจากปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ต่อให้เราดูแลตัวเองปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงอนุมูลอิสระดียังไงกลไกปฏิกิริยาภายในร่างกายของเราก็ยังสามารถก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาได้ ทางป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกายให้มากขึ้นทั้งจากการรับประทานและการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงจากภายนอก เป็นการเสริมการป้องกันอนุมูลอิสระจากสองทางผสานกันจากภายในสู่ภายนอก

ใส่ความเห็น