กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นกลไกตามธรรมชาติของเซลล์ผิวอยู่แล้ว เมื่อเซลล์เก่าหมดอายุขัยก็จะหลุดออกเผยเซลล์ผิวใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เซลล์ผิวของเราผลัดตัวช้าลง หรือผลัดตัวได้ไม่ดี จึงเกิดเป็นปัญหาผิวต่าง ๆ ตามมา เป็นต้นว่าปัญหาความหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ รวมไปถึงสิวอุดตัน ทางออกของปัญหาเหล่านี้ก็คือการเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิว ซึ่งวันนี้เราจะอาสาพาทุกคนไปรู้จักกระบวนการนี้กันให้มากขึ้นว่าเป็นยังไง ทำแบบไหน แล้วอันตรายหรือมีผลข้างเคียงไหม ถ้าอยากรู้แล้วก็อย่ารอช้ามาหาคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้
ทำไมต้องมีการผลัดเซลล์ผิว
เซลล์ผิวก็เหมือนกับเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายที่มีวงจรและวัฏจักรเป็นของตัวเอง หรือที่เรียกว่า skin cell turnover จะมีการสร้างเซลล์ผิวใหม่มาทดแทนของเก่าที่เสื่อมสภาพไปอยู่เรื่อย ๆ โดยธรรมชาติแล้วเซลล์ผิวของเราจะมีอายุ 28 วัน หรือประมาณเดือนหนึ่งก็จะผลัดหลุดออกไปแล้วสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการซ่อมแซมตัวเองของผิว เพราะผิวของเราที่แก่ชราลงจากมลภาวะ ฝุ่น สารเคมี แสงแดด ฯลฯ ถือเป็นผิวที่หมดอายุขัยและเสื่อมสภาพไม่สามารถฟังก์ชั่นได้อีกต่อไป ร่างกายจึงสร้างเซลล์ผิวใหม่ออกมานั่นเอง ซึ่งถ้ากลไกการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติทำงานสมดุลและได้ประสิทธิภาพก็จะทำให้เรามีผิวที่สวยเนียนกระชับอยู่ตลอดเวลา
กลไกการผลัดเซลล์ผิว
ตามธรรมชาติโครงสร้างผิวของเราจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) และชั้นหนังแท้ (Dermis) ซึ่งบริเวณที่เกิดกระบวนการผลัดเซลล์ผิวนั้น 80% เลยอยู่ที่ชั้นหนังกำพร้า เซลล์ผิวเก่าที่หลุดออกมาเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าขี้ไคลนั่นเอง
กลไกการผลัดเซลล์ผิวของเราเริ่มจากเซลล์ผิวถูกผลิตออกมาจากใต้ชั้นผิวแล้วค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกมาทับทมกันบนชั้นหนังกำพร้า ระหว่างนั้นเซลล์ผิวก็จะสะสมเคราตินไว้จำนวนมากจนเกิดความแข็งกระด้าง เซลล์เหล่านี้จะมีโครงสร้างที่ชื่อว่าคอร์นีโอเดสโมโซม (corneodesmosome) ทำหน้าที่เป็นสะพานคอยยึดจับเซลล์ให้เกาะติดกัน เมื่อเซลล์หมดอายุขัยเอนไซม์ตามธรรมชาติในชั้นผิวจะออกมาสลายโครงสร้างสะพานเหล่านี้ ส่งผลให้เซลล์ผิวหลุดออกไป เซลล์ผิวใหม่ที่อวบอิ่มและอ่อนเยาว์กว่าจากด้านล่างก็จะขึ้นมาแทนที่เป็นวัฏจักรแบบนี้
ปัจจัยที่ทำให้การผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติชะงัก
กลไกการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาตินั้นสามารถถูกรบกวนได้ ซึ่งจะทำให้การผลัดเซลล์ผิวเกิดได้ช้าขึ้น ผลที่ตามมาก็คือเซลล์ผิวเก่าสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดเป็นปัญหาความหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอ กระ ฝ้า และจุดด่างดำ ยิ่งถ้าเซลล์ผิวสะสมตัวนาน ๆ ก็จะกลายเป็นแหล่งหมักหมมของเชื้อแบคทีเรีย ผลที่จะตามมากก็คือปัญหาสิวต่าง ๆ
ปัจจัยแรกที่ทำให้เซลล์ผิวผลัดตัวช้าลงก็คือเซลล์ผิวเสื่อมสภาพและหมดอายุขัยเร็วกว่าปกติ ลองจินตนาการดูว่าระหว่างที่เซลล์ผิวใหม่ค่อย ๆ สร้างและเคลื่อนตัวขึ้นมาด้านบนชั้นผิวเกิดการเสื่อมสภาพลง ขณะที่เซลล์ผิวเก่ายังไม่ทันได้ผลัด จึงทำให้มีเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพทับทมกันจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เซลล์ผิวของเราเสื่อมสภาพไวก็มีสาเหตุหลัก ๆ แบ่งได้จากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก
ปัจจัยภายใน
- อายุ
เมื่อเราอายุมากขึ้นเซลล์ในร่างกายของเราก็จะเสื่อมสภาพลงตามธรรมชาติ เซลล์ผิวก็เช่นกัน พอเซลล์ผิวเสื่อมสภาพก็จะทำให้อัตราการสร้างเซลล์ผิวใหม่ลดน้อยลง จนทำให้เซลล์ผิวผลัดตัวเองช้าลงหรือไม่ผลัดเลย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สภาพผิวของคนมีอายุจะมีความหยาบกร้าน สาก ไม่ชุ่มชื้น ต่างจากผิวของเด็กอายุน้อย ๆ โดยอัตราระยะเวลาการผลัดเซลล์ผิวแบ่งตามช่วงอายุได้ ดังนี้ ในเด็กเล็กใช้เวลาประมาณ 14 วัน ช่วงอายุ 10-19 ปี จะใช้เวลาประมาณ 14-28 วัน วัย 20-29 ปีจะใช้เวลาประมาณ 14-30 วัน ช่วงวัย 30-39 ปีจะใช้เวลาประมาณ 30-42 วัน วัย 40-49 ปีจะใช้เวลาประมาณ 30-42 วัน และช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปจะใช้เวลาประมาณ 45-84 วัน
ทั้งนี้ ก็เพราะว่าในเซลล์ผิวของคนมีอายุจะมีเอนไซม์ MMPs ในชั้นผิวมาก ซึ่งจะย่อยคอลลาเจนใต้ชั้นผิว ทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ ต่างจากคนอายุน้อยที่จะมีเอนไซม์ TIMPs ที่ทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ MMPs ออกมามากกว่าคนมีอายุ จึงทำให้เซลล์ผิวแบ่งตัวและผลิตเซลล์ใหม่ออกมาทดแทนเซลล์ผิวเก่าได้ดี ทำให้กลไกการผลัดเซลล์ผิวเป็นไปอย่างสมดุล
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
ฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของผิว เพราะเอสโตรเจนจะไปเพิ่ม transforming growth factor beta (TGF- β) ที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินใต้ชั้นผิว ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ทำให้กระบวนการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวเป็นไปอย่างธรรมชาติไม่ชะงัก สังเกตจากผิวของผู้หญิงจะเนียนใสและหยาบกร้านกว่าผิวของผู้ชาย หรือผิวของผู้หญิงวัยทองที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะหยาบกร้าน หย่อนคล้อย และผลัดเซลล์ผิวได้ช้ากว่า
ปัจจัยภายนอก
- แสงแดด
แสงแดดถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพเร็วก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการผลัดเซลล์ผิว เพราะรังสียูวีในแสงแดดจะทะลุทะลวงเข้าไปกระตุ้นเอนไซม์ MMPs ให้หลั่งออกมามากกว่าปกติ คอลลาเจนใต้ชั้นผิวก็จะถูกทำลายลง เซลล์ผิวใหม่ก็จะถูกผลิตออกมาได้น้อยลง พอไม่มีเซลล์ผิวใหม่มาทนแทนก็จะทำให้เซลล์ผิวเก่าผลัดช้าลง
- สารอนุมูลอิสระ
อนุมูลอิสระที่พบมาทั้งในมลภาวะรอบ ๆ ตัว รวมไปถึงอาหารการกินที่เรารับประทานเข้าไป โดยมลภาวะจะเข้าทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับสารชีวโมเลกุลต่าง ๆ ในเซลล์ผิว พร้อมกับก่อกวนกลไกต่าง ๆ ทำให้เซลล์ไม่สามารถฟังก์ชั่นได้ตามปกติ เซลล์ผิวใหม่ก็ผลิตออกมาได้น้อยลง ผลที่ตามมาก็คือเซลล์ผิวเสื่อมสภาพก่อนที่จะถูกผลัดออกไปได้ทัน
- ผิวขาดความชุ่มชื้น
ปัญหาผิวขาดน้ำและผิวขาดความชุ่มชื้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กระบวนการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวหยุดชะงัก เพราะจะทำให้เซลล์ผิวแห้งกร้าน และผลัดตัวได้ช้าลง เนื่องจากผิวขาดน้ำหล่อเลี้ยง เซลล์ผิวใหม่ก็แบ่งตัวออกมาช้า เซลล์ผิวเก่าก็แห้งกร้าน
การเร่งกระบวนการผลัดเซลล์ผิว
แน่นอนว่าการผลัดเซลล์ผิวเป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ก็สามารถหยุดชะงักลงได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องมีการเร่งกระบวนการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวเพื่อช่วยกระตุ้นให้การผลัดเซลล์ผิวมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกระบวนการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ด้วยกัน คือ
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยวิธีธรรมชาติ (Mechanical Exfoliation)
เป็นกระบวนการที่อาศัยปัจจัยทางธรรมชาติและกลไกทางกายภาพในการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิว ซึ่งก็ได้แก่การใช้ผงสมุนไพรขัดผิว ใช้น้ำผึ้ง มะขามเปียก น้ำมะนาว โยเกิร์ต กากกาแฟ น้ำตาล รวมไปถึงวัตถุดิบอื่น ๆ ตามธรรมชาติมาผสมกันทำเป็นสครับขัดผิว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและสูตรการสครับของแต่ละคนเลย วิธีการนี้จะอาศัยแรงทางกายภาพช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วให้หลุดออกอย่างอ่อนโยน แต่ก็มีข้อเสียงตรงที่ถ้าเราขัดแรงไปก็อาจจะทำให้เกิดการอักเสบระคายเคืองผิวตามมาได้
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยกลไกเคมี (Chemical Exfoliants)
วิธีการผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีจะเป็นการไปสลายคอร์นีโอเดสโมโซม โครงสร้างที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเซลล์ผิวให้หลุดออก ทำให้เซลล์ผิวผลัดออกได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้กลุ่มสารที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ อย่างกรด AHA BHA หรือ กรดซาลิไซลิก ซึ่งนอกจากจะช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าให้หลุดออกไปแล้วยังช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ด้วย อีกทั้งยังเห็นผลเร็วและผลข้างเคียงน้อยกว่าการขัดผิว จึงทำให้วิธีการนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายมาก
ข้อแตกต่างระหว่าง AHA กับ BHA
AHA (Alpha Hydroxy Acids) หรือ กรดอัลฟาไฮดรอกซี เป็นกรดตามธรรมชาติ เช่น กรดซีตริก ที่พบในผลไม้รสเปรี้ยว กรดไกลโคลิกจากน้ำตาลอ้อย รวมไปถึงกรดแลกติกในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยว กรดเหล่านี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มของ AHA ที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ จึงทำปฏิกิริยาได้เฉพาะผิวชั้นนอกเท่านั้น เหมาะกับคนผิวแห้งและผิวธรรมดา ไม่ค่อยเหมาะกับคนผิวมัน
BHA (Beta Hydroxy Acids) หรือ กรดเบต้าไฮดรอกซี หรือที่มักรู้จักกันในชื่อของกรดซาลิไซลิก สกัดจากเปลือกของต้น Willow หรือต้นหลิวจีน แตกต่างกับ AHA ตรงที่สามารถละลายได้ในไขมัน สามารถซึมเข้าตามรูขุมขนไปยังชั้นใต้ผิวได้ จึงเหมาะกับคนผิวมัน ช่วยผลัดเซลล์ผิวในระดับลึก และช่วยขจัดแบคทีเรีย หัวสิวอุดตัน และสิ่งสกปรกตามรูขุมขนให้หลุดออกมาได้ ที่สำคัญยังช่วยกระชับรูขุมขนให้เล็กลงได้อีกด้วย
ข้อควรระวังเมื่อใช้ AHA กับ BHA ผลัดเซลล์ผิว
- ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ AHA ความเข้มข้นไม่เกิน 10% และ BHA เข้มข้นไม่เกิน 1.5-2% เพราะอาจจะเสี่ยงที่จะเกิดการระคายเคืองผิวได้ ถ้าจะใช้ความเข้มข้นสูงกว่านี้ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น
- ทาผลิตภัณฑ์ให้ทั่วใบหน้า หลีกเลี่ยงบริเวณจุดอ่อนโยนอย่างรอบดวงตาและริมฝีปาก ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 นาที อาจจะเกิดความรู้สึกยิบ ๆ แสบผิวเล็กน้อย หลังจากครบระยะเวลาให้ล้างออกด้วยน้ำเปล่า
- ควรเว้นระยะเวลาไม่ควรทำถี่จนเกินไป แนะนำว่าสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง อาจจะทำสัปดาห์เว้นสัปดาห์ในช่วงแรก และทำซ้ำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งเป็นประจำทุกเดือน
- หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ AHA และ BHA ให้หลีกเลี่ยงแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เนื่องจากผิวจะไวต่อแสงแดดมาก อาจก่อให้เกิดการอักเสบแสบแดงได้ แนะนำว่าให้ทาครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ AHA และ BHA ร่วมกับวิตามินซี วิตามินเอ รวมไปถึง Benzoyl Peroxide เพราะจะสารเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นกรด หากใช้ร่วมกันจะทำให้ผิวหน้าของเรามีความเป็นกรดมากขึ้น ค่า PH บนผิวเสียสมดุล และจะทำให้เกิดการอักเสบแสบแดงในที่สุด
- ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ทุกครั้ง เพื่อช่วยเติมเต็มและกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยลดอาการผิวแห้ง ผิวขาดน้ำ และช่วยป้องกันการอักเสบระคายเคืองผิว
มาถึงตรงนี้คงช่วยคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการผลัดเซลล์ผิวกันมากขึ้นแล้ว ใครที่กำลังสนใจอยากจะผลัดเซลล์ผิวทั้งด้วยวิธีธรรมชาติและการใช้กรดผลไม้ก็ควรศึกษาข้อดีข้อเสียและวิธีการใช้ให้ครบถ้วน เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ที่สำคัญหลังจากผลัดเซลล์ผิวแล้วเรายังจำเป็นต้องบำรุงและดูแลผิวเหมือนเดิม ที่สำคัญเลยคือห้ามละเลยการทาครีมกันแดด เพื่อป้องกันปัญหาผิวเสื่อมสภาพ และชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิว เพื่อให้กลไกการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวตามธรรมชาติเป็นไปแบบปกติ
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/close-asia-woman-cheek-washing-face-1058955560