รู้ทัน! รูขุมขนอักเสบ ภัยเงียบทำร้ายผิวสวย

“รูขุมขนอักเสบ” อาการอักเสบจากภายในผิวหนังซึ่งสร้างผลกระทบต่อสุขภาพผิวของคุณได้ เนื่องมาจากการติดเชื้อ ทำให้เกิดเป็นตุ่มเล็กๆขึ้นในบริเวณผิวหนังที่มีการอักเสบ ซึ่งโดยปกติอาการที่เกิดขึ้นจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมก็อาจจะลุกลามสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างของผิวได้เช่นกัน  ถึงแม้ว่าภาวะรูขุมขนอักเสบอาจจะมีลักษณะคล้ายกับสิว ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดและรักษาผิดวิธีได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องมาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับภัยเล็กๆที่เกิดในรูขุมขน เพื่อที่จะสามารถเข้าใจ รับมือและรักษาได้อย่างทันท่วงทีและตรงจุดที่สุด

รู้จักรูขุมขน

“รูขุมขน”  มีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น“ต่อมขน” หรือ “ปุ่มรากผม” (Hair follicle) คือเนื้อเยื่อซึ่งเป็นส่วนประกอบของผิวหนังที่มีการสร้างผมหรือขนขึ้นมา โดยมีลักษณะเป็นถุงยาว แต่ภายในมีขนอยู่ อยู่ภายในผิวหนังในชั้นหนังแท้ โดยในส่วนของปากถุงนั้นจะมีลักษณะเปิดออกที่ผิวหนังชั้นนอกสุด (หนังกำพร้า) และต่อมไขมันของผิวหนังจะเปิดเข้าสู่รูขุมขนในส่วนนี้ นอกจากนั้น “รูขุมขน”ยังเป็นทางออกของไขมันที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมไขมัน และยังมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึกอยู่ที่ฐานของรูขุมขนอีกด้วย  “รูขุมขน”มีอยู่ทั่วไปทั้งในส่วนของใบหน้า แขน ขา ลำตัว หนังศีรษะ ยกเว้นบริเวณมือและเท้า โดยรูขุมขนจะกระจายอยู่ทั่วไป ในปริมาณความหนาแน่นที่แตกต่างกันในแต่ละส่วนของร่างกาย แต่จะพบหนาแน่นที่บริเวณใบหน้า แผ่นอก และแผ่นหลัง ซึ่งเป็นจุดที่มักเกิดสิวอยู่เป็นประจำ

รูขุมขนอักเสบคืออะไร

รูขุมขนอักเสบ ต่อมขนอักเสบ หรือ ปุ่มรากผมอักเสบ (Folliculitis) สามารถเป็นไปได้ทั้งจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในบริเวณรูขุมขน หรืออาจเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนสืบเนื่องมาจากการกำจัดขน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางชนิด จนทำให้เกิดการระคายเคืองและอุดตันที่รูขุมขน ส่งผลให้รูขุมขนแดง นูน เป็นตุ่มหนอง หรืออาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งภาวะรูขุมขนอักเสบ อาจมีลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกับสิว เช่น มีผื่นสีแดงขึ้นเป็นกระจุก มีตุ่มหนอง แผลพุพอง ผิวแดงเป็นปื้นคลายกับผิวไหม้แดด  ในบางรายอาจมีตุ่มหนองขนาดใหญ่ หรืออาจมีอาการคันบริเวณรูขุมขนอักเสบ ผิวเริ่มบาง และบางครั้งอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย จะว่าไปแล้ว “รูขุมขนอักเสบ” เป็นโรคผิวหนัง ที่พบได้บ่อยทั้งชายและหญิง ทุกเพศ ทุกวัย

สาเหตุของรูขุมขนอักเสบ

“รูขุมขนอักเสบ”  สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งออกเป็นสาเหตุหลักและปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

สาเหตุหลักของภาวะรูขุมขนอักเสบ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ “รูขุมขนอักเสบ” เกิดจากการที่รูขุมขนถูกทำลายจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส หรือเชื้อรา ซึ่งอาจได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสผิวหนังหรือจากของใช้ส่วนตัวของผู้ติดเชื้อดังกล่าว เช่น ผ้าเช็ดตัว สบู่ หรือเสื้อผ้า เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะรูขุมขนอักเสบ

นอกจากปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่เป็นตัวกระตุ้นที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่มากขึ้นจนทำให้เกิดการอักเสบในรูขุมขนได้ ดังนี้

  • ผิวหนังอักเสบหรือมีสิว
  • มีโรคหรือปัญหาสุขภาพที่ทำให้การต้านทานการติดเชื้อของร่างกายลดลง เช่น โรคเบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์เป็นต้น
  • ใช้ครีมหรือยารักษาโรคบางชนิด ครีมสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาสิวระยะยาว หรือการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นต้น
  • ผู้ชายที่เส้นขนหรือมีเส้นผมหยิกเสี่ยงต่อการเกิดขนคุดและกลายเป็นรูขุมขนอักเสบเมื่อต้องโกนขนหรือหนวด
  • การว่ายน้ำในสระ การใช้บริการบ่อน้ำร้อน หรือสปาที่ไม่สะอาด ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
  • ผิวหนังเกิดความเสียหายหรือเป็นแผลจากการใช้ใบมีดโกน
  • มีการอุดตันหรือการระคายเคืองของรูขุมขนที่เกิดจากเหงื่อ น้ำมัน หรือเครื่องสำอาง
  • การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไปหรือเนื้อผ้ามีลักษณะหยาบเกินไป ทำให้ผิวหนังเกิดการเสียดสีและมีการระคายเคืองเกิดขึ้น
  • การใช้มือสัมผัสใบหนาบ่อยๆ ซึ่งเป็นการรบกวนผิวหน้าและรูขุมขน
  • การโกนขน การถอนขน หรือการแว็กซ์ขน
  • การแช่น้ำอุ่นหรือน้ำร้อนบ่อยเกินไป
  • เกิดจากสารเคมีบางชนิด เช่น น้ำมันดิน (Coal tar) เป็นต้น
  • มีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน
  • เกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางประเภท
  • การอุดตันรูขุมขนจากสารเคอราติน(Keratin) ของผิว

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดรูขุมขนอักเสบ

บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดรูขุมขนอักเสบ ได้แก่

  • ผู้ที่ชอบแว๊กซ์ขน หรือ Hair wax ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการถอนขนด้วยสารพาราฟิน หรือผู้ที่โกนขนขาอยู่บ่อยๆ ทำให้เกิดการระคายเคืองของรูขุมขนอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ที่ไม่ดูแลเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในการกำจัดขน เช่น มีดโกนหนวด มีดโกนขน เป็นต้น
  • ผู้ที่มักใส่เสื้อผ้าที่รัด แน่น คับ หรือมีการเสียดสีของเนื้อผ้าและผิวหนังอยู่เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีกิจกรรมแช่ในอ่างน้ำร้อน สระว่ายน้ำ หรือสปาที่ไม่ได้มีการทำความะสะอาดอย่างเพียงพอ

ประเภทของรูขุมขนอักเสบ

รูขุมขนอักเสบแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามระดับความลึกของการอักเสบ ดังต่อไปนี้

  • รูขุมขนอักเสบระดับตื้น
    ในระดับนี้ เป็นการอักเสบของรูขุมขนเฉพาะบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณชั้นผิวหนังที่ไม่ลึกมากนัก ได้แก่
  • รูขุมขนอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
    การอักเสบของรูขุมขนในลักษณะนี้มักพบได้บ่อย ทำให้เกิดอาการคันและมีตุ่มหนองสีขาวขึ้นบริเวณผิวหนัง โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) โดยจะติดเชื้อก็ต่อเมื่อผิวหนังมีบาดแผลเท่านั้น
  • รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา
    โดยส่วนใหญ่มักมีตุ่มหนองสีแดงเกิดขึ้นบริเวณหลังหรือหน้าอกเรื้อรัง หรือบางครั้งอาจพบได้ตามใบหน้า คอ ไหล่ และต้นแขนได้ด้วย
  • รูขุมขนอักเสบจากใบมีดโกน
    เกิดจากการอักเสบของขนคุด ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลเป็นนูนขึ้นมาได้ในภายหลัง เป็นผลพวงที่เกิดจากการโกนหนวดหรือเส้นขนใกล้ผิวหนังมากเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีเส้นผมหรือเส้นขนหยิก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดขนคุดในลักษณะนี้ได้มาก โดยส่วนใหญ่มักเกิดที่ใบหน้าและลำคอ รวมถึงการโกนขนบริเวณอวัยวะเพศด้วยเช่นกัน
  • รูขุมขนอักเสบจากการแช่น้ำร้อน
    ตามบ่อน้ำร้อนและสระว่ายน้ำที่มีค่า pH หรือระดับสารคลอรีนที่ไม่เหมาะสมมักมีเชื้อแบคทีเรียซูโดโมแนส ซึ่งเมื่อสัมผัสผิวหนัง อาจทำให้เกิดผื่นแดงหรือตุ่มกลมที่มีอาการคันในช่วง 1-2 วัน
  • รูขุมขนอักเสบระดับลึก
    การอักเสบของรูขุมขนในระดับนี้ เป็นการอักเสบในชั้นผิวหนังที่ลึกลงไป มักมีอาการรุนแรงกว่า ได้แก่
  • รูขุมขนอักเสบบริเวณหนวดและเครา
    การอักเสบบริเวณนี้ เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการโกนหนวดและเคราของผู้ชาย
  • รูขุมขนอักเสบจากการใช้ยารักษาสิว
    เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาสิวติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้รูขุมขนอักเสบในระดับลึกได้
  • เกิดจากฝีและฝีฝักบัว
    “ฝีฝักบัว” คือฝีที่มีการรวมกันเป็นกลุ่ม เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อกคัสของรูขุมขนในระดับที่ลึกลงไป ซึ่งสามารถก่อให้เกิดฝีหัวสีแดงหรือชมพูที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาได้
  • รูขุมขนอักเสบในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
    อาการของรูขุมขนอักเสบประเภทนี้จะแสดงออกมาในลักษณะตุ่มแดงคันหรือเป็นสิวบริเวณใบหน้าและร่างกายส่วนบน เมื่อตุ่มเหล่านี้ลดลงหรือหายดี มักจะทิ้งรอยดำไว้บริเวณผิวหนัง

อาการของรูขุมขนอักเสบ

อาการของรูขุมขนอักเสบที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน มีดังต่อไปนี้

  • มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดงขนาดเล็กบริเวณรูขุมขน มักพบกระจายหลายตุ่ม มีเส้นขนอยู่ตรงกลางตุ่ม หรือเป็นสิวหัวขาวขึ้นตามผิวหนัง
  • อาจมีหนองตามบริเวณรูขุมขนหรือในตุ่มเล็กๆที่กระจายอยู่นั้น
  • อาจมีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน มีอาการกดเจ็บ หรือมีตุ่มบวมขนาดใหญ่
  • สามารถพบตุ่มเหล่านี้ได้ทุกที่ที่มีรูขุมขน เช่น หนังศีรษะ บริเวณที่มีหนวด แผ่นอก แผ่นหลัง แขน ขา และที่อวัยวะเพศ

การวินิจฉัยจากอาการของรูขุมขนอักเสบ

อาการของรูขุมขนอักเสบในเบื้องต้น สามารถสังเกตได้จากลักษณะของผิวหนังที่เปลี่ยนไป เช่นอาจจะมีผื่นหรือตุ่มที่ผิดปกติเกิดขึ้น หากไม่แน่ใจในอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป

เมื่อไปพบแพทย์ สิ่งแรกที่แพทย์จะทำคือการตรวจดูลักษณะผิวหนังที่เกิดตุ่มหรือผื่น พร้อมซักประวัติด้านสุขภาพและกิจกรรมที่ทำ และอาจส่งผลตรวจที่ได้ไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อความชัดเจนของอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีการตรวจโดยส่วนใหญ่ มีดังต่อไปนี้

  • เก็บตัวอย่างของเหลวจากตุ่มหนอง เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของภาวะรูขุมขนอักเสบ
  • การนำตัวอย่างของเส้นขนหรือเส้นผมในบริเวณที่มีอาการไปตรวจหาเชื้อราด้วยสารโพแทสเซียมไฮ ดรอกไซด์
  • เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ผิวหนังเพื่อนำไปตรวจยืนยันผลการวินิจฉัย

เมื่อทราบผลการตรวจที่ชัดเจน แพทย์จะเป็นผู้กำหนดแนวทางเพื่อวางแผนในการรักษาเป็นลำดับต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของรูขุมขนอักเสบ

โดยปกติทั่วไป ภาวะรูขุมขนอักเสบมักจะเกิดขึ้นและหายไปได้เองและไม่มีอาการที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากนัก แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นความผิดปกติเกิดขึ้นมาได้ ดังต่อไปนี้

  • เกิดรอยด่างที่ผิวหนัง
    รอยด่างที่เกิดขึ้น มีที่มาจากอาการอักเสบที่ผิวหนัง มักมีสีเข้มหรือสีอ่อนกว่าสีผิวปกติ
  • เส้นขนหลุดร่วงถาวร
    เป็นผลพวงที่เกิดจากรูขุมขนเกิดความเสียหาย
  • เกิดรอยแผลเป็น

เกิดจากการอักเสบของรูขุมขนในระดับที่ลึกลงไป หรือมีการเกาผิวหนังในบริเวณที่มีปัญหาอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดแผลเป็นได้

  • เกิดฝีหรือซีสต์ใต้ผิวหนัง
    เมื่อมีการอักเสบของตุ่มบริเวณผิวหนังมากขึ้น ก็สามารถขยายตัวจนกลายเป็นฝีหรือซีสต์ที่สร้างความเจ็บปวดจนต้องผ่าตัดเพื่อระบายหนองออกมา
  • เซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังอักเสบ
    เป็นการอักเสบในเซลล์ผิวหนังระดับลึก พบได้ไม่บ่อยนัก

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

อย่างที่กล่าวไปว่า ภาวะรูขุมขนอักเสบสามารถเกิดขึ้นและหายไปได้เอง แต่ควรไปพบแพทย์ในกรณีที่มีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีความไม่แน่ใจในอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • มีความร้อนเกิดขึ้นใต้ผิว
  • มีรอยแผลเป็นหรือรอยดำเกิดขึ้นบนผิวหนัง
  • รูขุมขนถูกทำลาย ทำให้ขนร่วงถาวร

รูขุมขนอักเสบติดต่อได้หรือไม่

ภาวะรูขุมจนอักเสบ แม้โดยทั่วไปไม่ได้ส่งผลอันตรายใดๆ แต่สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสเชื้อโรคต่างๆที่ทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบ เช่น

  • ติดต่อจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ เช่น เชื้อโรคติดอยู่ที่เครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม เสื้อผ้า) หรือในอ่างอาบน้ำ เป็นต้น
  • ติดต่อจากเชื้อรา ที่อาจติดอยู่ตามมีดโกนหนวด มีดโกนขน มีดโกนหนวด หากใช้ร่วมกับผู้ที่รูขุมขนติดเชื้อรา
  • ติดต่อจากเชื้อไวรัส เช่น เริม หรือ หูดข้าวสุก ที่ติดมาจากการสัมผัสรอยโรคของผู้ป่วย

ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว ควรงดใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ที่มีอาการ ไม่ว่าจะเป็น มีดโกน หวี ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม เสื้อผ้า ควรตัดเล็บให้สั้น และล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ซึ่งการติดเชื้อซ้ำๆหรือติดเชื้อในระดับลึกภายในรูขุมขน อาจจะทำให้เกิดแผลเป็นตามมาได้ ดังนั้น เมื่อมีการติดเชื้อในระยะแรกควรได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ถูกสุขอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในระดับที่ลึกและรุนแรงมากขึ้น

การรักษารูขุมขนอักเสบ

ในการรักษาภาวะรูขุมขนอักเสบนั้น ขึ้นอยู่กับประเภทและระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เป็นจำเป็นต้องดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ช่วยให้หายเร็วขึ้น และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในกรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย ดังนี้

  • ให้ประคบบริเวณที่มีอาการของรูขุมขนอักเสบด้วยผ้าชุบน้ำเกลืออุ่นๆ เป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
  • หมั่นทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่เป็นแผลด้วยสบู่ที่มีส่วนผสมของสารต้านเชื้อแบคทีเรียอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเช็ดด้วยผ้าสะอาด และหลังจากที่ใช้ผ้าเสร็จ ควรซักด้วยสบู่และน้ำร้อนเพื่อไม่ให้เชื้อโรคตกค้าง
  • ทาบริเวณผิวหนังที่อักเสบด้วยยา ครีมหรือเจล วันละ 2 -3 ครั้ง เช่น ยา 2% Mupirocin, Bacitracin หรือล้างด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ
  • รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่นยา Dicloxacillin ซึ่งจะต้องให้แพทย์พิจารณาเป็นกรณีๆไป โดยเฉพาะในรายที่รอยโรคกว้างและ/หรือมีการอักเสบระดับลึกในรูขุมขน
  • หากมีอาการคันร่มด้วย ให้ทาโลชั่นหรือครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซน หรือรับประทานยาNSAIDs หรือ antihistamines เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือคันที่เกิดขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการโกนขนบริเวณผิวหนังที่อักเสบ ควรรอให้อาการดีขึ้นก่อน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องโกนควรเปลี่ยนใบมีดทุกครั้ง
  • ให้ทำความสะอาดเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน และผ้าเช็ดตัวด้วยน้ำร้อนทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่น

สำหรับผู้ที่มีภาวะรูขุมขนอักเสบค่อนข้างรุนแรงหรือเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจายไปยังผิวหนังบริเวณอื่นๆ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราเพื่อรักษาการติดเชื้อ และในกรณีที่มีอาการเรื้อรังหรือกลับมาเป็นซ้ำ อาจจะต้องรักษาโดยใช้ทั้งยาทาและยารับประทานควบคู่กันไป หากมีการอักเสบหรือติดเชื้อจนเป็นหนอง แพทย์จะต้องผ่าตัดเพื่อระบายหนองออกมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและทำให้แผลหายเร็วขึ้นได้ แต่ถ้าหากรักษาด้วยวิธีการต่างๆแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์จะเสนอให้ใช้เลเซอร์กำจัดขน ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อโดยทำลายรูขุมขนอย่างถาวรและจะส่งผลให้ความหนาแน่นของขนในบริเวณดังกล่าวลดลงได้อีกด้วย แต่ด้วยวิธีการรักษาเช่นนี้อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดแผลพุพอง รอยแผลเป็นหรือรอยด่างที่ผิวหนังได้

การป้องกันรูขุมขนอักเสบ

รูขุมขนอักเสบ สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้ ดังต่อไปนี้

  • หลังออกกำลังกาย หรือหลังจากทำงานที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารเคมี ให้อาบน้ำทุกครั้ง
  • อาบน้ำทุกวันด้วยสบู่อ่อนๆ เพื่อป้องกันการระคายเคืองจากสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำ
  • งดใช้ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้าหรือเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
  • ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมากเกินไป รวมถึงเสื้อผ้าที่มีเนื้อหยาบเกินไป เพราะเสื้อผ้าในลักษณะนั้น มักจะเสียดสีกับผิวหนัง อาจจะทำให้เกิดการระคายเคือง และโดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว อาจทำให้มีเหงื่อออกมามาก จนเกิดความชื้นสะสมที่รูขุมขนและส่งผลให้รูขุมขนอักเสบได้ในที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการทาน้ำมันลงบนผิวหนังเพราะน้ำมันเป็นตัวที่สามารถดักจับเชื้อแบคทีเรียให้เข้าสู่ภายในรูขุมขนได้
  • ในการโกนขนหรือนวดเครา ให้โกนไปตามทิศทางของขน หรืออาจจะใช้มีดโกนไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดขนคุด ไม่ควรโดนขนชิดกับผิวมากจนเกินไป และให้ดูแลความสะอาดของมีดโกนด้วย โดยอาจจะแช่มีดโกนในแอลกอฮอล์  70% เป็นเวลา 1 ชม.ทุกวัน เพื่อลดการเติบโตของแบคทีเรียรวมถึงการเปลี่ยนใบมีดโกนที่ใช้ในการโกนขนเป็นประจำ ในกรณีที่แว๊กซ์ขน ควรเลือกใช้แว๊กซ์ที่เหมาะกับแต่ละบริเวณของผิว และควรจะโกนขนหรือแว๊กซ์ขนหลังการอาบน้ำ เพราะเป็นช่วงที่ขนมีความอ่อนนุ่ม
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวให้เหมาะสมกับสภาพผิว ซึ่งควรจะตรวจสอบว่าในผลิตภัณฑ์ต่างๆเหล่านั้นไม่มีสารที่เพิ่มการอุดตันในรูขุมขน เพราะถ้าหากผิวหนังอุดตัน อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้เกิดรูขุมขนอักเสบตามมาได้
  • ตัดเล็บให้สั้น ไม่เกา แกะ แคะที่ผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและรอยถลอก
  • หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมและเพาะเชื้อโรคต่างๆ เช่น อ่างอาบน้ำหรืออุปกรณ์กีฬา ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ

“รูขุมขนอักเสบ” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ถึงแม้ว่าจะสามารถหายเองได้ แต่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกต้องและวิธีการที่เหมาะสม โดยเฉพาะการดูแลในเรื่องความสะอาดของผิว เพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบในชั้นผิวที่อยู่ในระดับลึกลงไป จนกลายเป็นปัญหาใหญ่และอาจทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ให้ทุกข์ใจอีกด้วย

 

 

 

ใส่ความเห็น