สิวหัวช้าง รักษาอย่างไรไม่ให้เกิดหลุมสิว

“สิวหัวช้าง” หนึ่งในประเภทของสิวที่มีเม็ดนูนขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสิวชนิดอักเสบ ที่มีระดับความรุนแรง ทั้งยังสามารถทิ้งรอยสิว รอยแผลเป็นไว้บนผิวได้ด้วย เพื่อรับมือกับการเกิดสิวหัวช้างได้อย่างทันท่วงที ไม่นำไปสู่ปัญหาที่มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจตั้งแต่กลไกแรกของการเกิดสิว ที่มาและสาเหตุ พร้อมทั้งวิธีการรักษาเพื่อไม่ให้หน้ากลายเป็นหลุมสิวรวมถึงข้อควรปฏิบัติและวิธีป้องกันอย่างถูกต้อง

สิวหัวช้างคืออะไร

“สิวหัวช้าง” (Nodulocystic acne / Severe Nodular acne) หรือที่เรียกกันว่า “สิวหัวใหญ่” หรือ “ฝีหัวช้าง” เป็นสิวอักเสบที่มีขนาดใหญ่ สามารถเป็นได้ทั้งสิวแบบมีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้  ถ้าเป็นสิวแบบมีหัว อาจมีตั้งแต่ 1-3 หัวในสิวหนึ่งเม็ด ขอบเขตไม่ชัด สามารถมองเห็นได้ง่ายจากภายนอก โดยเป็นตุ่มสีชมพูแดง ซึ่งเกิดจากการอักเสบอย่างรุนแรงที่ผิวหนังในชั้นหนังแท้ (Dermis) สิวหัวช้าง มีลักษณะคล้ายสิวไต (Nodular acne) แตกต่างกันที่ระดับความรุนแรง โดยสิวไตจะมีขนาดเล็กกว่า และเมื่อจับดูที่ตัวสิวจะรู้สึกว่าเป็นไตแข็งๆ ในขณะที่สิวหัวช้างมีลักษณะอ่อนนุ่มเนื่องจากมีเลือดและหนองเข้าไปคั่งอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก บางครั้งพบซีสต์เทียมภายในด้วย (pseudocysts) ให้ความรู้สึกที่เจ็บ ระบม และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อมีการสัมผัสที่ตัวสิว บางรายมีอาการคันร่วมด้วย อาการแทรกซ้อนที่พบได้เมื่อเป็นสิวหัวช้าง คือถ้าหากรักษาไม่ถูกวิธีหรือมีการบีบ แกะสิวให้แตก มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดรอยสิวได้สูงมาก ทั้งรอยดำ รอยแดง แผลขนาดใหญ่หรือกลายเป็นหลุมสิวที่ยากต่อการรักษาและใช้ระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน  

บริเวณที่มักเกิดสิวหัวช้าง

สิวหัวช้างสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยบริเวณที่มักพบได้บ่อยๆ มีดังต่อไปนี้

  • บริเวณคาง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกจากมือของคนเราได้ง่ายที่สุด เพราะหลายๆคนอาจจะมีพฤติกรรมที่ติดเป็นนิสัย เช่น ชอบเท้าคางหรือจับคาง นอกจากนี้การสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานๆ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิวบริเวณคางเกิดความอับชื้นและมีการเสียดสีจนทำให้เกิดสิวหัวช้างได้
  • บริเวณจมูก เนื่องจากเป็นหนึ่งในบริเวณทีโซน(T-Zone) ที่มีต่อมไขมัน ผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมาเป็นจำนวนมาก เอื้อต่อการเกิดสิวได้เป็นอย่างดี
  • บริเวณหลัง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก รวมถึงมีความอับชื้นจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ และเมื่อมีการเสียดสีเกิดขึ้นเป็นประจำจากเนื้อผ้า ก็สามารถเป็นที่มาของสิวหัวช้างได้เช่นกัน

 

สาเหตุการเกิดสิวหัวช้าง

“สิวหัวช้าง” เป็นสิวที่มีการอักเสบอย่างรุนแรง โดยสาเหตุของการอักเสบก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการอุดตันภายในรูขุมขนเช่นเดียวกับสิวประเภทอื่นๆ สามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดสิวหัวช้างออกเป็นหัวข้อหลักๆได้ดังต่อไปนี้

  1. ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากจนเกินไป (Sebum production)
    เนื่องจากน้ำมันที่ถูกผลิตออกมาจากต่อมไขมัน (Sebum) สามารถทำให้เกิดการอักเสบได้ เนื่องจากในรูขุมขนของผิวมีไขมันอยู่เป็นจำนวนมาก และภายในนั้นยังมีแบคทีเรียที่มีชื่อเรียกว่า acne (Cutibacterium acnes) อยู่ ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้สามารถย่อยสลายไขมันชื่อไตรกลีเซอไรด์ (triglycerides) ที่เป็นส่วนประกอบหลักของ sebum ได้ด้วย โดยไขมันชนิดนี้จะถูกย่อยให้กลายเป็นกรดไขมันอิสระ (free fatty acid) ซึ่งมีผลทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองและทำให้แบคทีเรีย C.acne (Cutibacterium acnes) ซึ่งเป็นหนึ่งในแบคทีเรียประจำถิ่นที่อาศัยอยู่บนผิวหนังและในรูขุมขน มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ก็สามารถทำให้เกิดสิวได้ นอกจากนั้นการอักเสบที่ผิวหนังที่เกิดจากต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป ยังสามารถทำให้เซลล์ในรูขุมขนที่เรียกว่า keratinocyte(เคราติโนไซท์) ซึ่งเป็นเซลล์ในชั้นผิวหนังกำพร้าที่ทำหน้าที่ในการผลิตเคราติน(keratin) ซึ่งปกติเป็นเซลล์ที่มีวงจรชีวิตของตัวเอง จะหลุดออกมาเองเมื่อหมดอายุขัย แต่ถ้าหากเซลล์ดังกล่าวมีการเพิ่มจำนวนเร็วและมากขึ้นกว่าปกติ จะมีความเสี่ยงทำให้เซลล์ที่ถูกผลัดออกมาไปอุดตันอยู่ที่รูขุมขน จนเกิดเป็นสิวอุดตันขนาดเล็ก ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (microcomedones) ขึ้นมา และเมื่อ microcomedonesขวางทางรูขุมขน ทั้งเคราตินและน้ำมันจากต่อมไขมัน(sebum) รวมถึงแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในรูขุมขน ไม่สามารถออกมาภายนอกได้ และเกิดการทับซ้อนอยู่ภายในรูขุมขน ก็จะทำให้เกิดสิวอุดตันและพัฒนาเป็นสิวหัวช้างได้อย่างแน่นอน
  2. การอักเสบและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน (Inflammation and immune response)
    การอักเสบ เกิดขึ้นจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคต่างๆ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นออกไปด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคสร้างความผิดปกติให้เกิดขึ้นกับร่างกาย โดยบริเวณที่มีเชื้อโรคเข้ามามักมีอาการบวม ปวดร้อน หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย เราเรียกภาวะการตอบสนองของร่างกายในลักษณะนี้ว่า “การอักเสบ” หลักการเดียวกันกับกรณีของการเกิดสิว แบคทีเรียจะเข้าสู่ชั้นผิวหนังผ่านรูขุมขน และเมื่อเกิดเป็นสิวอุดตันที่มีการอุดตันที่ใหญ่เกินไปหรือผิวถูกรบกวนอย่างรุนแรงจากการกดสิว จะทำให้ผนังรูขุมขนแตกออก ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้แบคทีเรียเข้าสู่ชั้นผิวหนังและเกิดการอักเสบจนกลายเป็นสิวอักเสบและมีหนองได้ แท้จริงแล้ว การอักเสบของผิวหนังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังการเกิดสิว การอักเสบของผิวหนัง สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวได้ และในขณะเดียวกัน การเกิดสิวก็สามารถทำให้เกิดการอักเสบที่ชั้นผิวหนังแท้(dermis)หรือชั้นหนังกำพร้า(epidermis) ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงพอจะกล่าวได้ว่า สิวหัวช้าง เกิดขึ้นจากการติดเชื้อใต้ผิวหนัง โดยอาจจะพัฒนามาจากสิวอุดตันหรือไม่ก็ได้ เพราะเมื่อเกิดการติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันจะตอบสนองต่อการติดเชื้อจนทำให้เกิดการอักเสบ และเมื่อเวลาผ่านไปเศษซากของเชื้อโรคและระบบภูมิคุ้มกันจะรวมตัวกันจนทำให้มีหนอง(Pus) ซึ่งเป็นของเหลวสีขาวเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อนอยู่ใต้ผิวหนังที่มีการอักเสบนั่นเอง
  3. ระบบฮอร์โมนในร่างกาย
    “สิวหัวช้าง” สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ต่อมไขมันในรูขุมขนถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชาย เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ทำให้เกิดสิวหัวช้างได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับวัยรุ่น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และสามารถเกิดขึ้นได้ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ช่วงที่มีประจำเดือน ในวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่อยู่ในภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome) เป็นต้น
  4. กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีพ่อแม่หรือญาติทางสายเลือดเป็นสิวหัวช้าง ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นสิวหัวช้างได้มากกว่าปกติ
  5. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่นยาในกลุ่มลิเทียมและกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นต้น
  6. มลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นควันต่างๆ รวมถึงการเสียดสีของผิวหน้าในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นจากการสวมหน้ากากอนามัยตลอดทั้งวันหรือการใส่หมวกกันน็อคที่แน่นหรือหลวมเกินไป อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง และเป็นสิวได้
  7. พฤติกรรมที่เอื้อต่อการเกิดสิวหัวช้างอื่นๆ ได้แก่
    • ล้างหน้าไม่สะอาด เป็นหนึ่งในปัจจัยร่วมที่ก่อให้เกิดการสะสมและอุดตันของสิ่งสกปรก ทำให้เกิดสิวตามมาในภายหลัง
    • การสัมผัสหน้าบ่อยๆ ไม่เพียงแต่ทำให้การอักเสบใต้ผิวหนังประทุหนักกว่าเดิม แต่สิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่ติดอยู่ที่มือของเราอาจจะกระตุ้นให้กลุ่มสิวในบริเวณใกล้เคียงมีการลุกลามขยายวงกว้างออกไปได้
    • ใช้เครื่องสำอางที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของซิลิโคน ที่สามารถก่อให้เกิดการอุดตันได้ง่าย ทำให้ผิวอักเสบมากกว่าเดิมและรักษาได้ยากขึ้น
    • ดื่มน้ำน้อย ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น และทำให้มีการผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ส่งผลให้เกิดการอุดตันของสิวได้
    • พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการซ่อมแซมหรือรับการฟื้นฟูเท่าที่ควร ไม่เพียงเท่านั้นยังส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆภายในร่างกายอีกด้วย รวมถึงภาวะความเครียด ซึ่งจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดไปกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานหนักมากขึ้น ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น เพิ่มโอกาสในการเกิดสิวตามมา
    • การรับประทานอาหารจำพวกแป้ง ไขมันและอาหารที่มีน้ำตาลสูงเป็นประจำ ผลิตภัณฑ์จากนมหรือช็อคโกแลต ล้วนกระตุ้นให้เกิดสิว

วิธีรักษาสิวหัวช้าง

เนื่องจากสิวหัวช้าง เป็นสิวที่มีระดับความรุนแรงมากกว่าสิวธรรมดาทั่วไป ดังนั้นส่วนใหญ่จึงนิยมใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีที่สุด ดังต่อไปนี้

การรักษาสิวหัวช้างด้วยยา ซึ่งในที่นี่ ใช้ได้ทั้งยาทาและยารับประทาน

  1. ยาทารักษาสิวหัวช้าง
    ในการใช้ยาทาสำหรับรักษาสิวหัวช้าง มักใช้ยาที่ออกฤทธิ์เพื่อการลดการอักเสบของผิว ลดการทำงานของต่อมผลิตไขมัน ลดจำนวนแบคทีเรีย และช่วยในกระบวนการผลัดเซลล์ผิวให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยมีตัวยาที่นิยมใช้ ดังต่อไปนี้

    • ยาในกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids) ซึ่งจะช่วยต้านการอักเสบและลดการอุดตันของรูขุมขน แต่อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผิวบาง เกิดการระคายเคืองและไวต่อแสง
    • Benzoyl peroxide เป็นยาทาสิวที่สามารถใช้ได้กับสิวทุกประเภทและเหมาะกับแทบทุกสภาพผิว ยกเว้นผิวบอบบาง แพ้ง่าย มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยไม่ทำให้เชื้อสิวเกิดอาการดื้อยา ในการรักษาสิวหัวช้าง แพทย์มักแนะนำให้ใช้ยา Benzoyl peroxide แทนยาปฏิชีวนะแบบทา หรือสามารถใช้ร่วมกันได้ เนื่องด้วยความรุนแรงของสิวหัวช้าง หากใช้ยาเพียงตัวเดียวในการรักษาอาจจะทำให้เกิดอาการดื้อยาตามมา
    • Azelaic Acid มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยในการผลัดเซลล์ผิว แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวบางลงได้ และหากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจทำให้ผิวไหม้ได้ ดังนั้นจึงนิยมนำมารักษาในผู้ที่เป็นสิวหัวช้างที่มีระดับความรุนแรงมาก ใช้วิธีอื่นรักษาแต่ไม่ได้ผล
    • ยาทาสูตรผสม (combination) เป็นการใช้ยาทาในการรักษาสิวหัวช้างควบคู่กันไป เช่น ใช้ Benzoyl peroxide ร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดียิ่งขึ้นและช่วยลดอัตราการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย หรือใช้Benzoyl peroxide ร่วมกับ Retinoids เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ครอบคลุมขึ้น เป็นต้น
  2. ยารับประทานรักษาสิวหัวช้าง การใช้ยารับประทานเพื่อรักษาสิวหัวช้างนั้น จะใช้เพื่อช่วยปรับฮอร์โมนในร่างกายให้มีความสมดุลขึ้น ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการทำงานของต่อมไขมัน ลดการอักเสบ และช่วยในการผลัดเซลล์ผิวให้เป็นไปตามปกติ โดยยาที่นิยมใช้ มีดังต่อไปนี้
  3. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic and antibacterial agents) เป็นยาที่ใช้กันมากที่สุดในการรักษาสิวหัวช้าง เนื่องจากสามารถช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  4. ยา Isotretinoin เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มเรตินอยด์ ที่ช่วยในการกระตุ้นสิวและอาการอักเสบใต้ผิวหนังให้ดันตัวออกมา ช่วยยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ทั้งยังช่วยทำให้จำนวนของเชื้อแบคทีเรียลดลงได้อีกด้วย เป็นยาที่ใช้รักษาสิวหัวช้างทั่วไป โดยอาจจะต้องรับประทานสัปดาห์ละ 3-7 เม็ด เป็นระยะเวลา 4-6 เดือน ใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนานอยู่ที่ประมาณ 20-28 สัปดาห์หรืออาจจะนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพปัญหาผิวของแต่ละคน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ผลข้างเคียงค่อนข้างมากคือจะทำให้ผิวไวต่อแสงมากกว่าปกติ และในกลุ่มผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาประเภทนี้
  5. ยารับประทานประเภทอื่นๆ
    – ยาคุมกำเนิด ใช้ในการรักษาสิวอุดตันหรืออักเสบในระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะนำไปสู่การเกิดสิวหัวช้าง เนื่องจากช่วงเป็นประจำเดือน อาจทำให้ฮอร์โมนแปรปรวน ดังนั้นการรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนเป็นส่วนประกอบอาจช่วยลดสิวได้
  6. ยาสไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นยาขับปัสสาวะ อาจช่วยรักษาสิวหัวช้างในผู้หญิงได้

ในการรักษาสิวหัวช้างเบื้องต้น นิยมใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับรับประทานร่วมกับยาRetinoids สำหรับทาเฉพาะที่หรือ Benzoyl peroxide แต่ถ้าหากสิวหัวช้างมีอาการค่อนข้างหนัก แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยา Isotretinoin แทน

ใช้หัตถการรักษาสิวหัวช้าง เป็นการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆเพื่อรักษา บรรเทาอาการสิวหัวช้าง โดยหัตถการที่ใช้มี 4 วิธีด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  1. การผ่าตัดสิว (Acne Surgery)
    ซึ่งในที่นี้ หมายถึงการกดสิวหรือการกรีดเอาหนองสิวออกมา หากเป็นสิวหัวช้างเรื้อรังทั่วไป มีแนวโน้มที่จะมีสิวอุดตันแบบหัวปิด ที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นสิวอักเสบและเป็นสิวหัวช้างได้ ดังนั้นการกดสิวออกมาเป็นการช่วยลดโอกาสของการเกิดสิวหัวช้างในเวลาต่อมานั่นเอง ส่วนวิธีการกรีดเอาหนองออก เป็นการรักษาอาการอักเสบวิธีหนึ่ง เนื่องจากหนองที่อยู่ภายในสิวหัวช้างเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียตกค้างอยู่ จำเป็นต้องนำออกมา แต่ปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีนี้แล้ว เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้อีกด้วย
  2. การฉีด corticosteroids เข้าที่สิวโดยตรง (Intralesional Injection of corticosteroids)
    เป็นการฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์เข้าไป เป็นการรักษาสิวหัวช้างที่ได้ผลดีค่อนข้างมาก เพราะสามารถลดการอักเสบของผิวได้โดยไม่ต้องกรีดเอาหนองออกมา มีฤทธิ์ช่วยทำให้สิวหัวช้างที่ไม่ยุบ สิวหัวช้างที่ไม่มีหัวให้สามารถยุบตัวลงได้ แต่ก็มีข้อจำกัดคือไม่สามารถฉีด corticosteroids เข้าไปยังสิวทุกตำแหน่งได้ นอกจากนั้นยังเสี่ยงในการเกิดภาวะสร้างเม็ดสีน้อยกว่าปกติ (Hypopigmentation) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม และแม้จะเป็นการรักษาสิวหัวช้างที่ค่อนข้างรวดเร็ว แต่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะผิวหนังในบริเวณนั้นอาจจะเกิดอาการช้ำ หรือถ้าหากรับยามากเกินไป อาจทำให้ผิวเกิดเป็นรอยบุ๋มลงไปได้
  3. การทำเลเซอร์และบำบัดด้วยแสง
    วิธีนี้จะช่วยในการลดจำนวนของแบคทีเรีย acne พร้อมทั้งช่วยลดการทำงานของต่อมไขมันได้อีกด้วย ซึ่งมักนิยมใช้เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์หรือเป็นการฉายแสงที่มีความยาวคลื่น10,600 นาโนเมตร เป็นการใช้พลังความร้อนสูงที่สามารถตัดเนื้อเยื่อได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาสิวหัวช้างที่มีความรุนแรงมาก เป็นวิธีรักษาสิวหัวช้างที่ได้ผลดี ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย แต่มีราคาค่อนข้างสูงและต้องทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวหัวช้าง

  • สิวหัวช้างสามารถหายได้ภายในกี่วัน?
    การรักษาสิวหัวช้างขึ้นอยู่กับว่าสภาพปัญหาผิวหน้าของแต่ละคนตอบสนองต่อยาในการรักษามากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือน และยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการอักเสบใต้ผิวหนังของสิวหัวช้างกินบริเวณที่กว้างและลึกกว่าสิวประเภทอื่นๆ และการอักเสบที่เรื้อรังจนภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเองอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น รอยดำ รอยแดงหรือหลุมสิวซึ่งรักษาได้ยากและใช้เวลานานยิ่งกว่า
  • สิวหัวช้างหายเองได้หรือไม่?
    สิวหัวช้างเป็นสิวที่เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นใน จึงไม่สามารถที่จะปล่อยให้หายเองได้ และหากทิ้งไว้อาจจะทำให้เชื้อลุกลามเกิดสิวอีกหลายตุ่มในบริเวณเดียวกัน นอกจากนั้นถ้าหากปล่อยให้เกิดการอักเสบยาวนานจะทำให้ภูมิคุ้มกันกัดกินผิวหนังของตัวเอง กลายเป็นหลุมลึก รักษาได้ยาก ดังนั้น เมื่อเป็นสิวหัวช้าง ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาเอง
  • กดสิวหัวช้างได้หรือไม่?
    ด้วยเหตุที่เป็นสิวอักเสบรุนแรง และในบางครั้งยังเป็นสิวที่ไม่มีหัว จึงไม่ควรกดสิวในขณะที่เป็นสิวหัวช้าง แต่ถ้าหากต้องการกดสิวแนะนำให้กดในขณะที่ยังเป็นสิวอุดตันอยู่ เป็นการช่วยป้องกันไม่ให้สิวอักเสบก่อตัวเป็นสิวหัวช้างต่อไป
  • สิวหัวช้างต่างจากสิวอักเสบอย่างไร?
    สิวหัวช้างเป็นหนึ่งในประเภทของสิวอักเสบที่มีขนาดใหญ่มากหรือเป็นสิวอักเสบที่เกาะกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนรวมกันอยู่ที่จุดๆเดียว

สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเป็นสิวหัวช้าง

สิวหัวช้างเป็นสิวที่รักษาค่อนข้างยากและใช้เวลาที่ยาวนาน ดังนั้นการให้การดูแลเอาใจใส่ผิวหน้าในขณะที่กำลังทำการรักษาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เนื่องจากผิวหนังในบริเวณที่เป็นสิวนั้นมีความอ่อนแอมากกว่าปกติ หากดูแลไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดรอยสิว รอยแผลเป็นหรือหลุมสิวตามมา ดังนั้นสิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อเป็นสิวหัวช้างจึงมีดังต่อไปนี้

  • ไม่บีบเค้นสิวหัวช้างหรือพยายามทำให้หนองที่อยู่ภายในสิวแตกออกด้วยมือ ป็นวิธีที่ไม่ควรใช้กับสิวทุกประเภท ไม่ว่าจะมีหัวหรือไม่มีหัวก็ตาม โดยเฉพาะกับสิวหัวช้าง ควรรีบปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะการใช้มือบีบสิวให้หนองแตกออกมานั้น เป็นการเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคที่ติดอยู่ที่มือของคนเราเข้าไปทำให้สิวที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม ทั้งยังทำให้เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่หรือกลายเป็นหลุมสิวที่มีขนาดลึกได้
  • ล้างหน้าให้สะอาด การล้างหน้าให้สะอาด นับเป็นวิธีการขั้นพื้นฐานในการดูแลผิวหน้า เพราะจะช่วยลดการอุดตันและลดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการก่อให้เกิดสิว ที่สำคัญไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไป เพียงวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นก็เพียงพอ เนื่องจากการล้างหน้าบ่อยเกินไปนอกจากจะทำให้หน้าแห้งและขาดความชุ่มชื้นแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ต่อมไขมันใต้รูขุมขนผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นจนทำให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนตามมาด้วย นอกจากนั้น ก่อนล้างหน้าควรเช็ดเครื่องสำอาง ครีมต่างๆออกให้หมด เพื่อป้องกันการสะสมของสิ่งสกปรกต่างๆพร้อมทั้งลดโอกาสเกิดสิว และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่เหมาะกับสภาพผิวและช่วยทำความสะอาดผิวหน้าได้อย่างหมดจด
  • หลีกเลี่ยงแสงแดดจัดๆ เนื่องจากความร้อนจากแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นให้ผิวเกิดการผลิตไขมันมากกว่าปกติ และรังสียูวียังสามารถทำลายผิวได้ถึงชั้นในของผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดจัดเป็นเวลานาน และทาครีมกันแดดเป็นประจำ รวมถึงการสวมเสื้อแขนยาว แว่นกันแดด เพื่อช่วยปกป้องผิวและลดโอกาสการเกิดสิวได้อีกด้วย
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น
  • ลดการรับประทานอาหารจำพวกของมัน หรือของหวาน
  • ควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม รวมถึงผ้าเช็ดตัวที่อาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย อย่างน้อยทุก ๆ 1-2 สัปดาห์
  • สระผมเป็นประจำ เพื่อลดความมันบนศีรษะ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดสิวบริเวณหน้าผาก
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป หรือการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน เพื่อลดการอักเสบและการระคายเคืองของผิวหนัง

acnelan กับการรักษาผิวหัวช้าง

acnelan ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่ช่วยจัดการตั้งแต่ต้นตอของการเกิดสิวในระยะแรกเริ่ม โดยช่วยตั้งแต่ควบคุมการผลิตน้ำมัน, ป้องกันการหนาตัวของผิวชั้นนอก (regulate hyperkeratosis),กระบวนการชะล้าง ทำความสะอาดไขมันและสิ่งสกปรกที่อุดตันอยู่ตามรูขุมขน,ลดการอักเสบของผิว,ลดการสะสมของแบคทีเรียอันนำไปสู่การอักเสบใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง จนกลายเป็นสิวหัวช้าง ไม่เพียงเท่านั้น ยังช่วยป้องกันและลดเลือนรอยแผลเป็นหลังเกิดสิวได้อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์ทุกประเภททั้งที่ใช้ในการทำทรีตเม้นท์ที่คลินิกและแบบเซ็ทสำหรับปรนนิบัติผิวที่บ้าน ได้คัดสรรส่วนผสมในระดับพรีเมียมที่ช่วยในการทำความสะอาดและบำรุงผิวได้อย่างล้ำลึก โดยมีผลิตภัณฑ์ให้เลือกสรรมากมาย ดังต่อไปนี้ acnelan multifactor mask,  post-peel neutralizing spray, pore sealing shield, purifying mousse, acne one, imperfection control, pure renewing mask, hydra-vital light,hydra-vital factor k, melan recovery และ fast skin repair ซึ่งหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ของ acnelan หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มเรตินอยด์ในการรักษาสิว ให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ทำการรักษา และเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาให้ใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

“สิวหัวช้าง” เป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึงอันตรายภายใต้ผิวหนังที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ และการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เสริมการรักษาได้อย่างตรงจุด พร้อมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันการอักเสบเรื้อรัง การเกิดรอยสิวและหลุมสิวที่ยากต่อการรักษาตามมาในภายหลัง

ใส่ความเห็น